Friday, February 10, 2012

[2134] ถ้าท่านเป็นผม ท่านจะตอบว่ายังไงครับ!!

สวัสดีครับ

ท่านผู้อ่านเคยเห็นกาพย์ยานี 16 ข้างล่างนี้ไหมครับ
เรียนเก่งเรียนอย่างไร เรียนด้วยใจหิววิชา
อยากรู้ดูตำรา ยิ่งค้นคว้ายิ่งพาเพลิน

ยิ่งเรียนยิ่งสนุก ผลักความทุกข์พ้นทางเดิน

ไม่หิวไม่อิ่มเกิน ไม่ห่างเหินไม่โหมเอย
 นักเขียนการ์ตูนชื่อดังของเมืองไทยที่ล่วงลับไปแล้ว คือคุณประยูร จรรยาวงศ์ ท่านเขียนไว้ในหนังสือวันเด็กปีหนึ่ง เรื่องเรียนเก่งเรียนอย่างไร ซึ่งเนื้อหาของกาพย์ดูเหมือนจะเน้นที่การอ่านว่าเป็นเครื่องมืออันนำไปสู่วิชาความรู้

ผมเองไปงานสัปดาห์หนังสือที่ศูนย์สิริกิติ์แทบทุกปี และก็พบว่าคนแน่นทุกครั้ง น่าดีใจที่ทุกวันนี้มีหนังสือให้อ่านมากขึ้น และคนไทยก็คงอ่านหนังสือมากกว่าสมัยก่อน  ผมคิดว่าอย่างนั้น

แต่เมื่อเข้าไปค้นในเน็ตก็ได้เจอ ข้อมูล ซึ่งอ้างคำพูดของอดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการท่านหนึ่งว่า จะรณรงค์ให้คนไทยอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 12 บรรทัดให้ได้ภายในปี 2550 นี่เป็นตัวเลขเมื่อหลายปีที่แล้ว แต่ก็น่าตกใจว่า ทำไมคนไทยอ่านหนังสือกันน้อยจัง

เมื่อเมืองไทยมีอินเทอร์เน็ตใช้ในปี พ.ศ.2538 ผมก็ดีใจว่าต่อไปนี้เราจะสามารถเข้าถึงแหล่งความรู้มากมายมหาศาลจากทั้งโลก ตอนนั้นผมเองใช้เน็ตเพื่อการอ่านเป็นส่วนใหญ่ เพราะ high speed Internet ยังไม่มี การฟัง mp3 และดูวีดิโอจึงเป็นเรื่องยากมาก

ผมดีใจได้แป๊บเดียวก็ต้องชะงักความดีใจ เพราะมาระลึกได้ว่า ขนาดภาษาไทยเรายังอ่านกันวันละไม่กี่บรรทัด ภาษาอังกฤษคงยิ่งน้อยลงไปใหญ่ เพราะฉะนั้นจะหวังว่าเราจะได้รับความรู้มากมายจากการอ่านหนังสือภาษาอังกฤษที่มีอยู่ในเน็ต คงหวังไม่ได้มากนัก
 
ตอนที่ผมอยู่ชั้นมัธยม มักจะได้ยินผู้ใหญ่กว่าพูดให้ได้ยินว่า คนที่เรียนหมอและวิศวะภาษาอังกฤษจะคล่องเพราะต้องอ่านตำราที่เป็นภาษาอังกฤษ ไม่มีตำราภาษาไทยให้อ่าน ผมเข้าใจว่านักศึกษาแพทย์ทุกวันนี้ที่จบมาได้ก็น่าจะอ่านภาษาอังกฤษได้คล่องเพราะต้องอ่านตำราฝรั่ง แต่เพื่อนรุ่นน้องของผมหลายคนที่จบวิศวะภาษาอังกฤษก็ไม่ดีนัก ผมถามแล้วได้ความว่ามีตำราภาษาไทยให้เรียน จึงโชคดีไม่ต้องลำบากอ่านตำราฝรั่ง ผมไม่แน่ใจว่าเขาโชคดีหรือโชคร้าย

ผมมีเพื่อนสนิทคนหนึ่งเป็นชาวเนปาล ผมไปเที่ยวบ้านเขาเมื่อหลายปีที่แล้วซึ่งอยู่ต่างจังหวัดบ้านนอกมาก ๆ ต้องนั่งเครื่องบินเล็ก 16 ที่นั่งไปเพราะไม่มีถนนและรถเข้าถึง เขาได้รับทุนไปต่อดอกเตอร์ที่สหรัฐฯ  และแหล่งทุนอนุญาตให้นำลูกสาวชั้นประถมไปเข้าเรียนที่สหรัฐฯด้วย ผมส่งสัยว่าหนูน้อยน่าจะมีปัญหาในการเข้าชั้นเรียนกับเด็กฝรั่ง เพื่อนบอกว่าไม่มีปัญหาเพราะตอนอยู่ที่เนปาลตำรา(แม้จะเก่า ๆ)ที่ใช้เรียนก็เป็นภาษาอังกฤษ

การที่ถูกบังคับให้ต้องใช้ตำราภาษาอังกฤษในการเรียน จึงน่าจะมีประโยชน์อยู่เหมือนกันนะครับ

ผมมานั่งถามตัวเองว่า เราคนไทยไม่มีปัญหาในการอ่านหนังสือไทย แต่ภาษาอังกฤษแม้ไม่ใช่ภาษาของเรา แต่เราก็เรียนมันมาตั้งแต่ชั้นประถม  แต่ทำไมจึงได้อ่อนแอนัก หลายครั้งที่ผมได้รับคำขอร้องทำนองว่า ต้องการให้ผมแนะนำวิธีการเรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่ต้นเลย ถามคล้าย ๆ กับว่าต้องเริ่มเรียนตั้งแต่ a, b, c, d… ยังงั้นแหละ ทำให้ชวนงงว่า อ้าว! แล้วที่ผ่านมาจนจบปริญญาตรีนี่ อาจารย์ให้สอบผ่านมาได้ยังไง ?  

เมื่อลองสอบถามดูก็ได้ความว่า ถ้าเข้าเรียนครบและทำการบ้านส่ง (อาจจะลอกเพื่อน หรือให้เพื่อนทำ หรือเป็นงานกลุ่มที่ให้คนเก่งคนเดียวช่วยเอาไปทำให้เพื่อนทั้งกลุ่ม ก็เป็นไปได้) อาจารย์ก็จะให้ผ่าน แม้เกรดไม่ดี แต่ก็ไม่ตก ทำอย่างนี้มาเรื่อย ๆ จนเรียนจบ และทันทีที่เรียนจบก็ไม่มีอะไรที่ต้องเกี่ยวข้องกับภาษาอังกฤษอีก เหมือนกับว่าทักษะภาษาอังกฤษทั้งหมดทั้งสิ้นที่ได้รับจากโรงเรียนจนถึงมหาวิทยาลัย คืออ่านออกแค่ A ถึง Z เท่านั้นเอง นอกเหนือจากนี้อย่ามาถาม 

แต่ปัญหาก็คือบางคนได้งานทำ และเจ้านายก็มุ่งหวังว่าจะมีทักษะด้านภาษาอังกฤษพอที่จะใช้งานได้บ้าง แต่ก็ไม่มีอย่างที่ผู้บังคับบัญชาหวัง  อยากจะฟิตเพื่อฟื้นทักษะภาษาอังกฤษ เพื่อจะได้มีโอกาสมากขึ้นในการเติบโตตามสายงาน ก็ไม่รู้จะฟิตยังไงให้มันฟื้น เพราะมันตายมานานแล้วตั้งแต่เป็นนักเรียน และก็ถามผมว่าต้องทำยังไง
ถ้าท่านเป็นผม ท่านจะตอบว่ายังไงครับ!!






พิพัฒน์
e4thai@live.com

No comments: