Tuesday, January 23, 2007

[38] วิธีเขียนใบสมัครขอทุนไป ตปท.

สวัสดีครับ
ก่อนที่ท่านจะอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่อง วิธีเขียนใบสมัครขอรับทุนไปอบรมต่างประเทศนี้ ผมขอเชิญอ่านให้เห็นภาพทั้งหมดก่อน…

ทันทีที่กรมเวียนหนังสือแจ้งให้ผู้สนใจส่งใบสมัครรับทุนอบรมต่างประเทศ หากท่านสนใจอยากจะไปนั่งในชั้นเรียนที่เมืองนอก มีเรื่องที่ท่านต้องทำ 6 ขั้นตอนดังนี้ครับ
1. เขียนแบบฟอร์มชั้นต้นเป็นภาษาไทย (แบบทุน 1) ส่งให้ฝ่ายประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ หรือฝ่ายวิเทศฯ เดิม
2. เข้าห้องสอบและผ่านการสอบภาษาอังกฤษระดับกรม , ระดับกระทรวง และระดับประเทศ (ไปสอบที่กรมวิเทศฯ) ตามลำดับ (กรมวิเทศฯ ชื่อใหม่คือ สำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ หรือเรียกสั้นๆ ว่า TICA ไทก้า)
3. ถ้าสอบไทก้าผ่าน ก็จะต้องเขียนใบสมัครตามแบบฟอร์มการสมัครขอรับทุนเป็นภาษาอังกฤษ ตามที่ประเทศเจ้าของทุนกำหนด
4. ไทก้าส่งใบสมัครนี้ไปให้เจ้าของทุนพิจารณา
5. ถึงตอนนี้ท่านก็รอประเทศเจ้าของทุนตอบมาว่า เขาจะรับหรือไม่รับท่านเข้าอบรม
6. ถ้าเขารับ ท่านก็เตรียมเดินทางได้เลย เช่น ทำหนังสือเดินทาง ขอวีซ่า ร่ำลาเพื่อน – บุตร – ภรรยา - แฟน และนั่งรถไปขึ้นเครื่องที่สนามบินสุวรรณภูมิ

เรื่องที่ผมจะคุยกับท่านในวันนี้ เฉพาะข้อ 3 คือ การเขียนใบสมัครเท่านั้น ซึ่งหมายความว่าท่านจะต้องผ่านข้อ 1 และข้อ 2 มาก่อน ซึ่งผ่านไม่ง่ายนัก โดยเฉพาะข้อ 2
ทำไมการเขียนใบสมัครจึงสำคัญนัก มันสำคัญก็เพราะว่ามันเป็นสิ่งเดียวที่ประเทศเจ้าของทุนเอาไปดูและตัดสินใจว่า จะรับหรือไม่รับท่านเข้าอบรมที่ประเทศของเขา เพราะฉะนั้นท่านจะต้องทำให้ใบสมัครของท่านพูดได้ และต้องพูดได้น่าฟัง จนเขาเคลิ้มและคล้อยตามและเลือกท่านเป็นผู้รับทุนของเขา

แล้วจะเขียนกันยังไงล่ะครับ… ใบสมัครที่ว่านี้?

แต่ละประเทศที่ให้ทุนจะมีแบบฟอร์มใบสมัครไม่เหมือนกันเด๊ะ แต่สาระสำคัญมักไม่ต่างกัน คือ ให้กรอกข้อมูลส่วนตัวทั่วไป งานที่ทำ และถามท่านว่าจะเอาความรู้ที่ได้รับจากการอบรมมาใช้ในอนาคตได้อย่างไร

การที่จะเขียนใบสมัครให้น่าสนใจ ท่านต้องมีข้อมูลบางอย่างตุนไว้ก่อน ถ้าไม่มีต้องไปหามาอ่านก่อนที่ท่านจะลงมือเขียนใบสมัคร น่าจะมีพวกนี้ครับ
1. เอกสารที่ไทก้าส่งมาให้ โดยมากก็จะให้รายละเอียดย่อยๆเกี่ยวกับวิชาในคอสที่จะเรียน
2. ท่านควรเข้าไปที่เว็บไซต์ของหน่วยงานเจ้าของทุน บางทีเขาไม่ได้แจ้งไว้ ท่านต้องหาเอง ในเว็บนี้น่าจะมีสิ่งที่มีประโยชน์ต่อการเขียนใบสมัคร
3. ถามข้อมูลจากไทก้าเกี่ยวกับทุนเดียวกันนี้ที่เคยให้คนไทยในปีก่อนๆ
4. คุยกับคนไทยที่เคยรับทุนนี้มาก่อน อาจจะถามเบอร์โทรศัพท์ได้จากไทก้าหรือสถานทูตของประเทศนั้นที่อยู่ในกรุงเทพก็ได้
ทำไมต้องหาข้อมูลเยอะแยะอย่างนี้ คำตอบก็คือ ถ้าจะทำให้เขาเลือกท่านในใบสมัครของท่าน จะต้องมีสิ่งดึงดูดใจให้เขาเลือก คือสิ่งที่ท่านเขียนในใบสมัครมันตรงกับธงหรือเกณฑ์ที่เขาตั้งไว้ในการคัดเลือกคนจากประเทศอื่นเข้าอบรมฟรีที่ประเทศของเขา

ฉะนั้นข้อมูลจาก 4 แหล่งข้างบน เมื่ออ่านและย่อยเสร็จแล้ว ท่านน่าจะตอบคำถามต่อไปนี้ได้ชัดเจน เช่น
1. แหล่งทุนต้องการผู้สมัครที่มี background หรืออดีตอย่างไร เช่น ประสบการณ์การทำงาน หรือการศึกษาแบบไหน ถ้าเขาต้องการคนจบทางคอมพิวเตอร์ แต่ผู้สมัครเป็นหมอนวดเคยจับเส้นไม่เคยจับเมาส์ ใบสมัครก็คงไม่จับใจเขา
2. เขาต้องการรับคนที่กำลังทำงานในตำแหน่งอะไรไปฝึกอบรมกับเขา ข้อนี้เขาถามปัจจุบัน สิ่งที่เห็นโดยทั่วไปก็คือ คนกรมพัฒน์ จำนวนไม่น้อย ทำงานสายทั่วไป หรือแม้อาจารย์ช่างบางคนก็สอนได้หลายช่าง การเขียนใบสมัครจะต้องไม่ทำให้เขารู้สึกว่าท่านเป็น Jack of all trades, expert of none หรือ รู้แบบเป็ด แต่ควรเขียนเน้นหรือเลือกหยิบมาเขียนให้เห็นว่าลักษณะของงานประจำที่ท่านทำในปัจจุบันมีความสำคัญม๊ากมาก ยิ่งถ้าได้รับการอบรมจากเขาจะยิ่งสามารถทำงานได้ดีเพิ่มขึ้นเป็นทวีตรีคูณ พูดง่ายๆก็คือต้องโยงให้เห็นว่างานที่ท่านทำกับการอบรมที่เขาจัดขึ้นมัน match กันยังกะกิ่งทองใบหยก ถ้าเขาจะเลือกคนไปอบรม ท่านนี่แหละคนนี้ใช่เลย การที่ท่านจะเขียนยังงี้ได้ท่านต้องไปอ่านรายวิชาของเขา และเขียนให้มันดึงและดูดใจ นี่ผมไม่ได้แนะให้ท่านแต่งนิยายตอนเขียนใบสมัครนะครับ ผมเพียงแต่บอกว่า ต้องหยิบแง่มุมที่เขาสนใจจะอ่านมาเขียน ไม่ใช่หยิบเรื่องที่ท่านสนใจจะเขียนมาให้เขาอ่าน
3. ประเด็นสุดท้ายที่จะต้องเขียนเป็นเรื่องอนาคต ในสมัครของทุกประเทศจะให้กรอกว่าเมื่อจบการอบรมแล้ว ท่านจะเอาความรู้ความชำนาญที่ได้รับไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง บางประเทศถามถึงขั้นว่า ท่านจะยังคงทำงานเดิมหรือเปล่า หรือจะได้รับการ promoteให้มีตำแหน่งสูงขึ้น อันนี้ก็ต้องกรอกไปตามความเป็นจริง ปนยกยอ ปนมองโลกในแง่ดีว่า การอบรมของเขามีประโยชน์แน่ๆและมากๆ ท่านอาจจะต้องกลับไปอ่านข้อมูลที่หาไว้แล้ววิเคราะห์ว่า ใครคือคนกลุ่มแรก หรือ first priority ที่เขาจะให้ทุน เช่น เป็นผู้บริหารระดับกลาง เป็นผู้ทำงานจริงในสนาม เป็นนักวิชาการหรือเป็นใครกันแน่ ตัวท่านเองอาจจะเป็นทีเดียวได้หลายอย่าง แต่ก็ต้องเขียนให้เขาเห็นว่าท่านเป็นอย่างที่เขาต้องการด้วย

เอาละครับหลังจากที่ท่านเขียนใบสมัครได้เนื้อหาครบถ้วน สมบูรณ์ถูกต้อง และชวนหลงใหลเรียบร้อยแล้ว ยังส่งไม่ได้ครับ เพราะอาจจะตายน้ำตื้น ให้ท่านเช็คครั้งสุดท้ายว่า ใบสมัครที่เนื้อหาสมบูรณ์นี้ รูปแบบ เนี๊ยบพอหรือยัง เช่น การจัดย่อหน้า การใช้ฟอนต์ spelling ความถูกต้องของไวยากรณ์ หมึกและกระดาษที่ใช้พิมพ์ ถ้าเขามิได้บังคับให้ใช้กระดาษแบบฟอร์มของเขาท่านสามารถเอาแบบฟอร์มมาพิมพ์เองให้ดูดีขึ้นก็ทำได้ครับ

ท่านที่เคารพครับ ผมเขียนถึงบรรทัดนี้ก็ยังคงมีความรู้สึกอย่างหนึ่งเหมือนเมื่อตอนลงมือเขียนบรรทัดแรก คือ การเขียนใบสมัครเป็นภาษาอังกฤษขอรับทุนไปต่างประเทศนี้ ถึงแม้จะดูยุ่งแต่ก็ไม่ยาก เรื่องที่ยากกว่าคือสอบภาษาอังกฤษผ่านเข้าไปจนถึงรอบสุดท้าย และได้รับการเสนอจากไทก้าเป็นตัวแทนประเทศไทยส่งใบสมัครให้ประเทศเจ้าของทุนพิจารณา ขั้นตอนการสอบภาษาอังกฤษนี้ยากกว่าเยอะ ส่วนการเขียนใบสมัครเป็นภาษาอังกฤษตามแบบฟอร์มของเขา แม้จะต้องพิถีพิถันอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องเหลือบ่ากว่าแรง ฉะนั้นการฟิตภาษาอังกฤษไว้เนืองๆ เพื่อติดอาวุธให้ตัวเองก่อนเข้าสนามสอบซึ่งไม่ต่างจากสนามรบ จึงเป็นการบ้านที่ควรทำทุกวัน

ผมหวังเอามากๆว่าเว็บที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี้ คือ http://www.intereladsd.blogspot.com
จะมีส่วนให้ท่านสอบภาษาอังกฤษผ่าน และได้บินไปอบรมที่เมืองนอก และเก็บเกี่ยวความรู้กลับมาบ้านได้สมใจนึก
InterelaDSD

No comments: