Sunday, November 4, 2007

[65] อ่านนิยายก็มีประโยชน์

สวัสดีครับ
ท่านเคยอ่านนิยายภาษาอังกฤษจบเรื่องไหมครับ ผมตอบแทนเลยว่าเคยครับ เคยทุกคน แม้บางท่านจะไม่เคยอ่านนิยายต้นฉบับ แต่ทุกท่านก็เคยอ่านนิยายที่เอามาเขียนใหม่ให้ง่ายขึ้น ที่เรียกว่า simplified ก็หนังสืออ่านนอกเวลาภาษาอังกฤษสมัยเรียนชั้นมัธยมนั่นไงครับ

การอ่านนิยายภาษาอังกฤษมีประโยชน์ยังไง ตอบได้เลยว่า 1) สนุก แต่ต้องได้อ่านแนวที่ท่านชอบนะครับจึงจะสนุก 2) ช่วยพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะในการพูด

สิ่งที่เราอ่านในนิยายเรื่องหนึ่งๆ ตั้งแต่หน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้าย แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 1) บทเล่าเรื่อง และ2) บทสนทนา และในชีวิตจริงของคนเรา เมื่อเราพูดเราก็พูด 2 อย่างนี่แหละครับ พูดเล่าเรื่องก็พูดยาวหน่อย เล่าเรื่องนั้นเรื่องนี้ที่ต้องการเล่า คนฟังก็นั่งฟังไปก่อนจนกว่าเราจะเล่าจบ แล้วก็พูดสนทนาก็โต้ตอบกันด้วยประโยคสั้น ๆ คุณพูดมั่งผมพูดมั่งสลับกัน

คนแต่งนิยายจะต้องเล่าเรื่องเก่ง คือ เล่าแล้วคนฟังรู้เรื่องและอยากฟังต่อไปจนจบเรื่อง ในขณะเดียวกับบทสนทนาที่คนแต่งเขียนให้ตัวละครพูดก็ต้องเป็นบทที่พูดในชีวิตจริง สรุปก็คือ ต้องเป็นภาษาร่วมสมัยทั้งบทเล่าเรื่องและบทสนทนา

เมื่อเราอ่านนิยาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิยายแนวที่เราชอบ เราก็จะสนุกและได้เห็นการใช้ถ้อยคำสำนวนในการเล่าเรื่องและพูดคุย เมื่ออ่านบ่อยๆ เราจะจำ style การใช้ภาษาของคนแต่งได้เองโดยไม่ต้องตั้งใจจำ ยิ่งถ้าได้อ่านนิยายหลาก style หลายคนแต่งมากๆ เข้า ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเราจะพูดได้เก่งขึ้น ทั้งพูดเล่าเรื่องและพูดสนทนา

เมื่อเขียนประโยคข้างต้นจบ ผมก็ได้ยินเสียงบ่นทันทีว่า “อ่านไม่รู้เรื่อง ศัพท์ยาก” ซึ่งผมไม่เถียงเลย คนแต่งเป็นฝรั่งเขียนให้ คนอ่านซึ่งเป็นฝรั่ง ศัพท์ธรรมดาของเขาก็กลายเป็นศัพท์ยากของเราซึ่งไม่ใช่ฝรั่ง

มาถึงบรรทัดนี้ผมกำลังจะบอกท่านว่า ถ้าเราต้องการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะในการพูดคุย เราน่าจะกลับไปหาหนังสือภาษาอังกฤษอ่านนอกเวลา (หรือบางโรงเรียน ครูก็ให้อ่านในห้องเรียน) ซึ่งเป็นนิยาย-นิทาน-story หนังสือพวกนี้ช่วยเรายังไง

1. มีหลากหลายเนื้อเรื่องให้เราเลือก เราน่าจะลองหยิบสักเรื่องหนึ่งที่เราชอบหรือไม่เกลียดมากนักมาอ่าน การได้อ่านเรื่องที่ชอบจะทำให้สนุกและเพิ่ม energy ในการอ่าน แต่ถ้าต้องทนอ่านเรื่องที่ไม่ชอบจะเสีย energy ไปกับการต่อต้านความเบื่อและจะอ่านได้ไม่นาน มันก็เหมือนกับได้กินอาหารที่ชอบจะกินได้นานและอิ่มยากนั่งกินไปได้เรื่อยๆ แต่ถ้าอาหารไม่ถูกปากกินแพล็บเดียวก็อิ่มขืนนั่งนานก็ทรมานใจ

2. มียาก-ง่ายหลายระดับให้เราเลือก แม้นิยายพวกนี้จะถูกเขียนใหม่ให้อ่านง่ายขึ้น แต่ก็ยังแบ่งออกเป็นหลายระดับตามความยากง่าย เราน่าจะเริ่มอ่านจากระดับที่เรารู้สึกว่าง่าย การอ่านเรื่องที่ยากเกินไปจะทำให้เราเสียเวลาไปกับการเดาศัพท์-เปิดดิก-ตีความประโยคที่อ่าน จนหมดสนุกและยากนักที่จะจดจำการใช้ถ้อยคำสำนวนของเขาได้ เรื่องที่ง่ายจะช่วยให้เราอ่านได้ไหลลื่นไปเรื่อยๆ สนุกและจำได้ มันเป็นเรื่องธรรมดาครับ อะไรที่เราอ่านแล้วมีความสุขเราจะจำได้โดยไม่ต้องตั้งใจจำ แต่อะไรที่เราอ่านแล้วไม่มีความสุขเรามักจะจำไม่ได้แม้จะฝืนใจจำ

มาถึงบรรทัดนี้ ถ้าท่านสนใจจะหาหนังสือพวกนี้มาอ่าน ผมขอแนะนำดังนี้ครับ
1. ที่แผงหนังสือสวนจตุจักรวันเสาร์-อาทิตย์ มีให้เลือกมากมาย และราคาถูกมากๆ เป็นหนังสือใช้แล้ว
2. ที่ร้านหนังสือทั่วไปก็มีขาย ราคาอาจจะแพงกว่าที่สวนจตุจักรนิดหน่อย
3. ที่เว็บไซต์นี้ก็มีครับ ท่านลองคลิกเลือกๆ ดู อาจจะมีหลายเล่มที่ถูกใจท่าน
-http://www.free-online-novels.com/ และ หน้าที่คล้ายกัน
-http://www.magickeys.com/books/links.html
-http://www.magickeys.com/books/
-http://www.freebooknotes.com/
-http://www.bookrags.com/

หรือถ้าท่านใดสนใจจะอ่านนิยายฉบับเต็มฟรีออนไลน์ ก็ลองไปที่เว็บข้างล่างนี้ครับ
http://www.eharlequin.com/cms/onlinereads/readsLibrary.jhtml?itcType=library http://starry.com/novel/authors.htm http://www.readbookonline.net/fictionNovel/ http://www.freeonlinereading.com/links.htm http://www.pagebypagebooks.com/title.html

มีอยู่ 2-3 ข้อ ซึ่งเป็นประสบการณ์ส่วนตัวที่ผมอยากแบ่งปันกับท่านผู้อ่าน
1. การอ่านรู้เรื่องไม่หมดไม่ใช่เรื่องแปลก ไม่ต้องหงุดหงิด-ไม่ต้องท้อถอย อ่านไปเรื่อยๆ จะรู้เรื่องมากขึ้นเอง หรือท่านอาจจะเปลี่ยนไปเอาเรื่องอื่นที่ง่ายกว่า หรือเรื่องที่ท่านชอบมากกว่า มาอ่านก็ได้ครับ

2. ถ้าไม่รู้ความหมายและขี้เกียจเปิดดิกต้องหัดเดา เช่น ถ้าเป็นคำถาม มันน่าจะเป็นสิ่งของ-สถานที่-หรือคำนามแสดงอาการอะไรสักอย่างหนึ่งหรือเปล่า ถ้าเป็นคำกริยา เมื่อเราดูจากประธานและกรรมแล้ว กริยาตัวนี้มันน่าจะแปลว่าอะไร อะไรทำนองนี้แหละครับ การเดาจะช่วยให้เรารู้ความหมายอย่างหลวมๆ ของศัพท์ที่เราเดา ซึ่งดีกว่าไม่ลองเดาเลย ผมคิดว่า ก้อนสมองส่วนที่ใช้ในการเดาเป็นคนละก้อนกับส่วนที่ใช้ในการจำ ถ้าเราหัดเดาบ่อยๆ สมองก้อนที่ใช้เดานี้คงใหญ่ขึ้นและทำงานเข้มแข็งขึ้น พูดอย่างนี้ผมก็เดาเอาเหมือนกันครับ แต่น่าจะเดาไม่ผิดความจริงมากนัก

3. เมื่อท่านได้เรื่องที่ท่านสนใจจะอ่านแล้ว ถ้าจะให้ดีน่าจะตั้งการบ้านให้ตัวเองว่า จะต้องอ่านให้จบภายในกี่วัน เช่น อ่านให้จบภายใน 1 เดือน ก็เอาจำนวนหน้าทั้งหมดหารด้วย 30 ก็จะได้จำนวนหน้าที่ท่านน่าจะหาเวลาอ่านให้ครบทุกวัน (อ่านเกินก็ดีครับ เพราะบางวันท่านอาจจะไม่มีเวลาอ่านสักหน้า) ท่านอ่านจะอ่านตอนยืนรอรถเมล์ที่ป้าย นั่งในรถเมล์ตอนเช้า-เย็น อ่าน 1 ย่อหน้าเมื่อตื่นนอน-อ่านอีก 1 ย่อหน้าก่อนปิดสวิตช์ไฟหัวเตียงเมื่อจะนอน แต่ถ้าจะให้ดีน่าจะเจียดเวลาสักนิดเพื่อการอ่านนี้เป็นการเฉพาะ

4. ใช้ดินสอเขียนความหมายของศัพท์ลงไปในหนังสือเลย อย่างนี้ไม่ถือว่ามือซนทำให้หนังสือเลอะเทอะ แถวบ้านผมเขาเรียกว่าขยันครับ

5. การอ่านออกเสียง บางหน้าบางตอนก็มีประโยชน์ครับ เช่น ประโยคที่น่าสนใจ หรือประโยคที่ท่านคิดว่าน่าจะมีโอกาสใช้ในการพูดจากับคนต่างชาติ อันที่จริงการตั้งใจอ่านออกเสียงสักวันละ 1 ย่อหน้า หรือครึ่งหน้าทุกวันมีประโยชน์ไม่น้อย เพราะว่า ในขณะที่การอ่านเป็น passive skill คือ การรับสารที่คนอื่นเขาส่งมา แต่การพูดหรือออกเสียงเป็น active skill คือ การส่งสารไปให้คนอื่น การได้ฝึกทั้ง passive skill และ active skill พร้อมกันไปเป็นเรื่องดีครับ

ถ้าท่านอายุยังน้อย ภาษาอังกฤษเป็นเครื่องมือที่วิเศษในการขยายโลกทัศน์และเพิ่มโอกาสในชีวิตของท่าน เพราะท่านยังมีเวลาทำงานอีกหลายปีกว่าจะเกษียณ ถ้าท่านแก่แล้วและเริ่มหมดแรงเรียนของใหม่ คือ ภาษาอังกฤษที่ท่านทิ้งมานานหรือไม่ได้สนใจมาแต่ต้น การเริ่มเรียนตอนนี้อาจช่วยให้ลูกของท่าน (ถ้าท่านมีลูก) เห็นตัวอย่างและมีกำลังใจในการฝึกสร้างเครื่องมือที่ดี เพื่อชีวิตของเขาเองในอนาคต แต่ถ้าท่านแก่แล้วและไม่มีลูกและถึงไม่รู้ภาษาอังกฤษเพิ่มขึ้นก็ทำงานได้ ภาษาอังกฤษอาจเป็นเครื่องมืออีกอย่างหนึ่งที่ช่วยสร้างความเพลิดเพลินอย่างยิ่งให้แก่ชีวิตของท่านในช่วงวัยเช่นนี้ครับ

พิพัฒน์
pptstn@yahoo.com

No comments: