Monday, August 13, 2007

[258] ตอบคำถามที่ท่านผู้อ่านถามบ่อย

สวัสดีครับ
มีอยู่ 3 คำถามที่ท่านผู้อ่านถามบ่อย
“พื้นฐานอ่อน ไม่รู้จะเริ่มต้นตรงไหน?”
“ไม่มีเวลา ไม่มีเงิน ไปเรียนกับครูพิเศษ หรือโรงเรียนสอนภาษา ทำยังไงดี?”
“พยายามฟิตอังกฤษแล้ว ก็ไม่ฟื้นซะที สงสัยจะไม่มีหัวทางนี้ แต่ก็อยากจะเก่งกว่านี้ ไม่รู้จะทำยังไง?”

ก่อนที่ผมจะแสดงความเห็น ผมว่า เราต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่า เราจะเรียนภาษาอังกฤษไปทำไม?
1. เรียนเพื่อให้สอบผ่าน ไม่อย่างนั้นจะไม่จบครบตามหลักสูตรของโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย
2. เรียนเพื่อใช้ในงานอาชีพ
3. เพื่อหาความรู้
4. เพื่อความเพลิดเพลิน
5. เพื่อสามารถช่วยเหลือคนอื่น
6. อื่น ๆ

คำถามถัดไปที่ต้อง “ถามใจ” ตัวเองก็คือ การที่จะทำให้สำเร็จข้อใดข้อหนึ่ง หรือหลายข้อตาม 1 – 6 ข้างต้น เมื่อพยายามไปได้สักพักหนึ่ง ท่านรู้สึก“ท้อใจ” และ ไม่อยากพยายามต่อไป, หรือว่าท่านยังคงรู้สึก “ปักใจ” และจะ พยายามต่อไป

ถ้าท่านเลือก “ปักใจ” และตามด้วย “จะพยายามต่อไป” หรืออีกนัยหนึ่งเลือกเดินบนเส้นทางของความสำเร็จ หรือ ‘อิทธิบาท’ ท่านลองทบทวนดูซีครับว่า 4 ข้อข้างล่างนี้ท่านมีครบหรือไม่:
1.ฉันทะ (บอกใจให้รักภาษาอังกฤษ):
ไม่ใจร้อน ไม่หงุดหงิด ไม่ท้อ เมื่อเรียนแล้วไม่ได้ผลดังใจ แต่มีความหวังอยู่เสมอ เหมือนพ่อแม่สอนลูกน้อยให้หัดเดิน มีความสุขเมื่อเห็นลูกเดิน ไม่ท้อไม่รำคาญเมื่อเห็นลูกล้ม และมีความหวังอยู่เสมอว่า ลูกจะค่อย ๆ เดินได้ดีมากขึ้นกว่าเดิมทุกวัน การฝึกเรียนภาษาอังกฤษก็ต้องมีความหวัง – ความรัก – ความสุข แบบนี้เช่นกัน
2. วิริยะ (บอกใจให้ใส่ใจ): ตั้งเป้าเชิงประมาณในการฝึกฝนหรือใช้งาน เช่น ฟัง/พูด/อ่าน/เขียน วันละไม่น้อยกว่า 30 นาที และก็ตั้งเป้าเชิงคุณภาพ เช่น ต้องฟัง/พูด/อ่าน/เขียน ให้เข้าใจ วันละ 1 คำ/ 1 วลี / 1 ประโยค / 1 ย่อหน้า / 1 หน้า / 1 เรื่อง ครั้งแรก ๆ อาจจะได้แต่ปริมาณ แต่เชื่อเถอะครับว่า เมื่อฝึกให้ได้ปริมาณมาก ๆ คุณภาพก็จะตามมาเอง ไม่มีปริมาณก็จะไม่มีคุณภาพ แต่ต้องเป็นปริมาณที่ทำด้วยความรัก(ฉันทะ) ตามข้อ 1 และความจดจ่อไตร่ตรอง ตามข้อ 3. และ 4. ที่กำลังจะพูดถึงนะครับ
3. จิตตะ (บอกใจให้จดจ่อ): ฝึกอ่านหรือฟังอังกฤษอย่างมีสมาธิเพียง 15 นาที อาจจะได้ผลดีมีคุณภาพมากกว่าฝึกอย่างใจลอยนาน 150 นาทีก็ได้ จากประสบการณ์ที่ผมเคยคุมสอบวิชา reading และ listen ทำให้ได้ข้อสรุปว่า ถ้าคนเราฝึกอ่านและฟังภาษาอังกฤษทุกครั้งอย่างมีสมาธิเหมือนที่เขากำลังทำข้อสอบ เขาจะเรียนภาษาอังกฤษอย่างคนมีพลังจิต จะได้ผลเร็ว เข้าใจง่าย จำง่าย และลืมยาก
4. วิมังสา (บอกใจให้ไตร่ตรอง): นอกจากเรียนด้วยใจรัก – ใส่ใจ – จดจ่อ แล้ว ยังควรมองหาช่องทางแก้ไขปรับปรุงวิธีการเรียนภาษาอังกฤษให้ได้ผลดีขึ้น เท่าที่จะทำได้

พอมาถึงตรงนี้ เรารู้แล้วว่า เราจะฝึกภาษาอังกฤษเพื่อให้อย่างน้อย “อ่านออก – เขียนได้” และ “ฟังออก – พูดได้” แล้วจุดที่เราจะเริ่มจริง ๆ อยู่ที่ตรงไหน? คำถามนี้ ท่านต้องตอบตัวเองครับ เพราะท่านรู้ดีกว่าคนอื่น คือว่า:
[1]. ใน 4 ทักษะ คือ ฟัง – พูด – อ่าน – เขียน นี้ ท่านจะเน้นฝึกที่ทักษะใด ก่อน – หลัง, มาก – น้อย บางท่านอาจจะต้องพูดมากหน่อย(คงรวมเรื่องฟังด้วย) บางท่านการอ่านให้รู้เรื่องจำเป็นมากที่สุด บางท่านมีงานที่ต้องเขียนซึ่งไม่ควรจะผิดเรื่องแกรมมาร์มากนัก ฯลฯ ท่านล่ะครับ จะพุ่งเป้าการฝึกเน้นเรื่องใดก่อน-หลัง มาก-น้อย เรื่องนี้ต้องหาคำตอบเอาเองครับ
[2]. พยายามให้ทุก ๆ วัน 1)มีงานที่ท่านต้องเอาภาษาอังกฤษเข้าไปใช้ หรือ 2)มีความรู้ที่ต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นเครื่องมือในการค้น หรือ 3)มีความสุขความเพลิดเพลินที่จะได้มาโดยการ ฟัง พูด อ่าน หรือเขียนภาษาอังกฤษ ถ้าข้อ 1) หรือ 2) หรือ 3) นี้ ไม่มีแม้แต่ข้อเดียว ก็ต้องหาให้ได้ครับ ไม่เข้าถ้ำเสือก็ไม่ได้ลูกเสือ เหมือนที่เขาว่าไว้จริง ๆ

เอาละ เมื่อท่านตั้งใจแล้วว่า ท่านมีเป้าหมายในการศึกษาภาษาอังกฤษและจะไม่ท้อ จะเป็นกำลังใจให้ตัวเอง ท่านก็ start ได้เลยครับ ซึ่งคงจะมีมากมายหลายสิบหลายร้อยวิธีที่ท่านจะศึกษาภาษาอังกฤษให้ได้ผล
โดยเว็บต่าง ๆ ที่ผมเอามาแนะนำใน Blog นี้เพื่อให้ท่านศึกษาภาษาผ่านหน้าคอมฯ ก็นับเป็น 1 วิธีที่อาจจะง่าย สะดวก ไม่แพง และได้ผลดีพอสมควร

ขอเชิญท่านคลิกเข้าไปดูที่
สารบัญ แยกประเภทหัวข้อ. ซึ่งน่าจะบางหัวข้อที่อาจจะเหมาะกับท่าน เช่น . สร้างพื้นฐานภาษาอังกฤษ [] การฟัง listening [] การพูด การสนทนา การออกเสียง [] การอ่าน reading [] การเขียน writing [] ไวยากรณ์ grammar [] ศัพท์ vocabulary [] Test ภาษาอังกฤษ [] การศึกษาภาษาอังกฤษจากภาพ เป็นต้น

ขออวยพรให้ทุกท่านได้รับความสำเร็จและความสุขจากการศึกษาภาษาอังกฤษครับ

พิพัฒน์
pptstn@yahoo.com

No comments: