Tuesday, January 9, 2007

[25] ฟิตอังกฤษ… ฟิตอย่างไร?

สวัสดีครับ
ถ้าเราไม่มีโอกาสไปเรียนหรืออยู่เมืองนอก ไม่มีสามีหรือภรรยาเป็นฝรั่ง ไม่มีงานที่ต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นประจำ ไม่มีเวลาว่างเกินวันละชั่วโมง สมัยเรียนหนังสือก็ไม่ได้เลือกภาษาอังกฤษเป็นวิชาเอก และชาติก่อนก็ไม่ได้เกิดเป็นฝรั่ง เราจะฟิตภาษาอังกฤษอย่างไรดี

ผมใคร่ขอเสนอความคิดเห็น จากประสบการณ์ของตัวเอง ดังนี้ครับ.....

1. บอกใจให้รักภาษาอังกฤษ ถ้าเรารักเราจะเรียนรู้ได้เร็ว จำได้นาน และมีความสุขเมื่อได้อยู่ใกล้คนรัก (คือภาษาอังกฤษ) คุณที่อายุพ้นวัยรุ่นคงพบว่า คุณจำเพลงสมัยก่อนที่เดี๋ยวนี้คนเอามาร้องใหม่ได้หลายต่อหลายเพลง เพียงแค่เขาขึ้นต้นคุณก็ร้องต่อได้แล้ว ทำไมคุณจำได้? คุณจำได้เพราะว่า คุณรักและมีความสุขที่ได้ร้องเพลงนั้น แต่เพลงที่คุณไม่ชอบ คุณไม่อยากจำและก็จำไม่ได้ ผมว่าภาษาอังกฤษก็เช่นเดียวกัน เราคงต้องรักมัน และต้องหาให้พบแง่งามของความรัก ภาษาอังกฤษมีหลายแง่ เราก็หาสักแง่หนึ่งที่เราสามารถรักมันได้เช่น ศึกษาไว้ดูหนัง ฟังเพลง ฟังข่าว คุยกับฝรั่ง อ่านเรื่องราวแปลก ๆ หรือเอาไว้สอบกรมวิเทศฯ ชิงทุนไปอบรมเมืองนอกก็ได้ครับ

2. มีเวลาให้กับเขาบ้าง ตอนผมเริ่มเรียนปี 1 ผมบอกตัวเองว่าก่อนขึ้นปี 2 เอ็งจะต้องอ่าน Bangkok Post ให้รู้เรื่องเหมือนอ่านไทยรัฐ ฉะนั้น (แทบ) ทุกวัน เมื่อกลับถึงบ้านผมจะนั่งที่โต๊ะอ่านหนังสือ เอาเชือกผูกเอวตัวเองไว้กับพนักเก้าอี้ และอ่านให้จบอย่างน้อย 1 หน้าก่อนลุกไปไหน ถ้าจะลุกก่อนจบก็เอาเก้าอี้ไปด้วย ทำอย่างนี้จนเรียนจบปี 1 ผลปรากฏว่าก็ยังไม่สามารถบันดาลให้ Bangkok Post กลายเป็นไทยรัฐไปได้ แต่… มันอ่านรู้เรื่องขึ้นเยอะครับ เพราะก่อนหน้านี้ Bangkok Post สำหรับผมมันยากพอ ๆ กับหนังสือพิมพ์ซิงเสียนเยอะเป้า ยังไง ยังงั้นเลยครับ

3. ฝึกฟัง-พูด-อ่าน-เขียนไปพร้อม ๆ กัน จากน้อยไปมาก ง่ายไปยาก
ฟัง : ก็ดูหนังฝรั่งหรือฟังเสียงในฟิล์ม ฟังข่าววิทยุประเทศไทยภาคภาษาอังกฤษ ฟังเทป ฟังเพลงเอาเนื้อ (ไม่ใช่เอาซึ้งหรือเอามันอย่างเดียว) ดูวีดีโอสอนภาษาอังกฤษ ฟังข่าวภาษาอังกฤษจากเน็ต ถ้าใครรับเคเบิ้ลทีวีที่บ้านก็ยิ่งมีโอกาสฝึกมาก
พูด : อาจจะต้องไปเรียนคอร์สสนทนาภาษาอังกฤษเป็นครั้งคราวตามโรงเรียนสอนภาษาต่างๆ ตามปกติ 1 คอร์สจะประมาณ 30 ชั่วโมง ค่าเรียน 3,000 กว่าบาท ถ้าใครบ้านอยู่แถวถนนข้าวสาร บางลำพู สุขุมวิท หรือย่านที่ฝรั่งอยู่กันเยอะๆ ลองจงใจเดินไปหาเรื่องทักทายพูดคุยกับฝรั่งก็จะมีประโยชน์ไม่น้อย ไม่เข้าถ้ำเสือหรือจะได้ลูกเสือ อีกอย่างหนึ่งลองหาภาษาอังกฤษง่ายๆ อ่านอัดเทป แล้วเปิดให้เพื่อนที่สนิทฟัง ถ้าเพื่อนหัวเราะเอ๊กอ๊ากและชมเราว่าพูดภาษาเขมรได้ดีมาก ก็ควรเพิ่งผลีผลามดีใจนะครับ
อ่าน : ผมขอแนะนำอย่างนี้ครับ หนังสือ reading อ่านนอกเวลา สมัยเราอยู่ชั้นมัธยมนั่นแหละครับ ลองเอามาอ่านอีกครั้ง หรือจะอ่านหนังสือพิมพ์ง่ายๆ เช่น Student Weekly หรือ หาอ่านจากเน็ตก็มีให้เลือกเยอะแยะ ถ้าอินทรีย์แก่กล้าก็ขยับขึ้นไปอ่าน Bangkok Post หรือ The Nation ข้อที่ขอบอกก็คือ ถ้าอ่านน้อยเกินไปจะไม่ได้อะไร ถ้าอ่านมากเกินไปจะขยันอยู่ได้ไม่กี่วัน ถ้าอ่านที่ง่ายเกินไปจะไม่ได้พัฒนาตัวเองเท่าที่ควร ถ้าอ่านที่ยากเกินไปจะรู้สึกเบื่อ และท้อ และถอย ต้องหาจุดพอดีเอาเองครับ
เขียน : ถ้าไม่มีผู้รู้หรือฝรั่งคอยตรวจสิ่งที่เราเขียน อาจต้องใช้วิธีหาคู่มือการเขียนภาษาอังกฤษที่มีแบบฝึกหัดและเฉลยพร้อมเสร็จมาศึกษาด้วยตัวเอง ถ้ามีเวลาจะไปเรียนคอร์ส writing ที่โรงเรียนสอนภาษาก็ดีครับผมอยาก

พูดอย่างนี้ครับว่า ถ้าคุณต้องการพูดเก่ง :
X คุณต้องฟังมากๆ แล้วคุณจะพูดได้ง่ายขึ้น เพราะการเรียนพูดคือการจำขี้ปากทั้งการออกเสียง และการใช้ถ้อยคำสำนวน
X คุณต้องอ่านมากๆ จะทำให้คุณรู้ศัพท์เยอะ และพูดได้หลายๆ เรื่อง รวมทั้งเรียนรู้การแต่งประโยคไปในตัว ไม่ใช่แค่ Yes, No, Hello, O.K.
X คุณต้องหัดเขียนบ้าง ถ้าปากกาของคุณผลิตถ้อยคำลงบนกระดาษได้ ก็จะเป็นการวอร์อมอัพให้ปากของคุณผลิตคำพูดออกมาเป็นเสียงได้เช่นกัน

สรุปได้ว่า ทักษะทั้ง 4 นี้ จะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน คุณควรฝึกไปพร้อมๆ กัน แม้ปริมาณหรือเวลาของการฝึกแต่ละทักษะจะไม่เท่ากันก็ตาม ฝึกจากน้อยไปมาก จากง่ายไปยาก จากเรื่องที่สนใจไปสู่เรื่องที่ถูกสั่งให้สนใจ

4. ท่องศัพท์ก็ต้องมีเทคนิค ถึงตอนนี้โตแล้ว พ้นวัยท่องศัพท์แล้ว แต่ผมคิดว่าถ้าเรายังรู้ศัพท์น้อยเกินไป เราก็ควรจะท่องบ้าง การวิจัยแห่งหนึ่งระบุว่า 95% ของคำศัพท์ที่ฝรั่งใช้ วนเวียนอยู่ในแวดวงไม่เกิน 14,700 คำ ปัญหาก็คือจะท่องอย่างไร จึงจะจำได้ไว และจำได้นานผมกำลังจะบอกว่าการท่องแบบอัดเทป เช่น book-หนังสือ, cat-แมว,dog-หมา และอีกเป็นสิบเป็นร้อยคำทำนองนี้ เป็นวิธีการท่องที่จำได้ช้าที่สุด และลืมได้เร็วที่สุด เพราะเป็นวิธีจำที่ดิบและน่าเบื่อเกินไป

ก่อนอื่นคุณควรจะมีสมุดจดศัพท์ที่สวยๆ และดูภูมิฐานสัก 1 เล่ม เพราะจะกระตุ้นให้คุณเห็นความสำคัญของการท่องศัพท์ คุณก็รู้ เพชรน้ำดีควรคู่กับแหวนทองคำ ไม่ใช่แหวนทองเหลือง หรือแหวนพลาสติก

ผมขอเสนอแนะวิธีการท่องสัก 2 วิธี
วิธีที่ 1 เป็นการท่องแบบคล้องจอง ผมเข้าใจว่าท่านแรกที่เสนอเทคนิคนี้ คือ อาจารย์พฤกษะศรี แห่งชมรมภาษาอังกฤษ ประเทศไทย โดยหาคำศัพท์และคำแปลภาษาอังกฤษและภาษาไทยมาผูกโยงและท่องให้คล้องจองกัน ทำให้จำง่าย เช่นSon (ซัน) บุตรชายขาย Sell (เซ็ล)Tell (เท็ล) บอกออก out (เอาท์)ลองไปหาหนังสือของท่านมาท่อง ท่านแต่งไว้จากง่ายไปยาก มีประโยชน์มากครับ ตอนทบทวนทีหลังก็ให้ปิดคอลัมน์ขวามือ แล้วนึกให้ได้ว่าศัพท์ด้านซ้ายมือตรงกับคำว่าอะไร เนื่องจากมีลักษณะคล้องจอง จึงเท่ากับบอกใบ้ให้เราเดา ถ้าทวนบ่อยๆ จะจำได้ง่ายและจำได้นาน ผมขอแนะนำอย่างรุนแรงให้คุณไปซื้อหนังสือ”ศัพท์คำพ้อง อังกฤษ-ไทย” ของ อ.พฤกษะศรี มาอ่าน –ท่อง-ทบทวน ครับ

วิธีที่ 2 เป็นวิธีที่ผมใช้เอง ทำง่าย ๆ ดังนี้ครับ ในสมุดจดศัพท์ของคุณ แต่ละหน้าให้คุณตีเส้นเป็น 5 คอลัมน์ ดังนี้ ครับ
คอลัมน์ที่ 1- คือ ลำดับที่ของคำศัพท์
คอลัมน์ที่ 2 - คำอ่าน เช่น ดิพาท
คอลัมน์ที่ 3 - คำศัพท์ เช่น depart
คอลัมน์ที่ 4 - ประโยคตัวอย่าง เช่น I said good-bye and departed.
คอลัมน์ที่ 5 - ความหมายของคำศัพท์ เช่น จากไป, ออกจาก

สิ่งสำคัญที่สุดคือ เมื่อคุณท่องศัพท์และกลับมาทบทวนในคราวหลัง ให้คุณหากระดาษปิดและเปิดคอลัมน์มาทางขวาทีละคอลัมน์ หลังจากที่เดาแล้ว เช่น ตามตัวอย่าง ศัพท์คำที่ 1 “ดิพาท” คุณเห็นแล้วให้ออกเสียง แล้วนึกว่ามันเขียนว่าอย่างไร สะกดออกมาดังๆ หรือเขียนลงบนกระดาษก็ได้ แล้วเปิดดูว่าสะกดถูกไหม แล้วนึกต่อไปว่าคำนี้หมายความว่าอย่างไร ถ้านึกไม่ออกก็ลองเปิดอ่านประโยคตัวอย่าง แล้วลองเดาอีกครั้งว่าศัพท์คำนี้แปลว่าอะไรถึงขั้นนี้ถ้ายังนึกความหมายไม่ออก ก็เปิดดูความหมายภาษาไทยในคอลัมน์สุดท้าย

ด้วยวิธีเช่นนี้ จะช่วยให้คุณได้ฝึก
1. การออกเสียง
2. การสะกดคำ
3. การเดาความหมายจากประโยค และ
4. ได้เห็นการใช้คำศัพท์นี้ในการแต่งประโยคซึ่งคุณสามารถจำเอาไปแต่งเองได้คุณอาจจะถามว่าประโยคตัวอย่างเหล่านี้เอามาจากไหน ตอบได้ว่า1. คุณอาจจะลอกมาจากเรื่องที่คุณอ่าน และ2. จากดิกชันนารี อังกฤษ-อังกฤษ ที่ผมแนะนำไปแล้วเมื่อวันก่อน ที่ลิงค์นี้ครับhttp://intereladsd2.blogspot.com/2007/01/17.html

คุณเหนื่อยหรือยังครับ การเตรียมคำศัพท์เพื่อ จด-ท่อง-ทบทวน เช่นนี้ ต้องอาศัยความตั้งใจมาก ผมแนะนำว่าควรทำไม่เกินวันละ 3-5 คำ ถ้าคุณโหมมากในตอนแรก คุณจะหักในตอนหลัง เพราะฉะนั้นอย่าหักโหม ผมเป็นห่วงครับ

5. ฝึกออกเสียงศัพท์แต่ละตัวให้ถูกต้องที่สุด เท่าที่จะทำได้ และอย่างมั่นใจ แม้เป็นการยากมากๆ หรือเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะออกเสียงได้เหมือนเจ้าของภาษา แต่เราควรพยายามฝึกให้สามารถออกเสียงให้เขาฟังเราพูดรู้เรื่อง ประเด็นของผมก็คือ ถ้าเราไม่มั่นใจในการออกเสียง เรามีแนวโน้มที่จะไม่ใช้ศัพท์ตัวนั้นในการพูดจา และเรามักจะจำศัพท์ตัวนั้นไม่ค่อยได้ ส่วนเทคนิคในการออกเสียงคำศัพท์ให้ถูกนั้น คำแนะนำจากผู้รู้และกาฝึกฝนต่อเอาเองเป็นเรื่องจำเป็นครับ

ผมอยากจะจบท้ายว่า ถ้าเรารักภาษาอังกฤษ ภาษาอังกฤษจะรักเรา แต่ถ้าเราไม่รักมัน มันก็คงไม่รักเรา แต่จะไปรักคนอื่นที่รักมัน คำพูดเช่นนี้อาจดูเว่อไปสักเล็กน้อย แต่ก็เป็นความจริงแท้แน่นอนครับ

พิพัฒน์

pptstn@yahoo.com

7 comments:

Anonymous said...

จะพยายามทำให้ได้ครับ ขอบคุณครับ pipat

Anonymous said...

ขอบคุณสำหรับคำแนะนำครับ

Kasma said...

จะลองสู้ดูสักตั้ง ฮึด ><

กุ้ย said...

ขอบคุณ มาก ครับ

Anonymous said...

สุดยอดมากๆครับ

Anonymous said...

ขอบคุณค่ะ จะพยายามค่ะ

joom said...

ขอบคุณมากๆเลยค่ะ เพิ่งได้เข้ามาเจอ แต่ว่าหลังจากนี้จะพยายามเข้ามาอ่ายบ่อยๆนะคะ