Thursday, February 8, 2007

[53] คุยกันเรื่องแกรมมาร์

สวัสดีครับ
 ชาวไทยใช้ภาษาไทยมาตั้งแต่เด็ก หลายคนไม่ชอบเรียนวิชาหลักภาษาไทย แต่ก็พูดไทยเขียนไทยไม่ผิดหลักภาษา ชาวอังกฤษใช้ภาษาอังกฤษมาตั้งแต่เด็ก หลายคนไม่ชอบเขียนแกรมมาร์ แต่ก็พูดอังกฤษเขียนอังกฤษไม่ผิดแกรมมาร์ หลักภาษาหรือแกรมมาร์จึงเป็นอะไรที่เจ้าของภาษาค่อยๆเรียนรู้เรื่อยๆมาตั้งแต่เด็ก จากการฟัง – พูด – อ่าน – เขียนภาษาของเขา

แต่เมื่อชาวอังกฤษต้องเรียนภาษาไทย หรือชาวไทยต้องเรียนภาษาอังกฤษ การรู้หลักภาษาหรือแกรมมาร์ก็น่าจะสำคัญ เพราะว่าเมื่อไม่ได้เรียนสิ่งนี้มาโดยถูกธรรมชาติตั้งแต่เด็ก เลยต้องมาเรียนโดยผิดธรรมชาติตอนโตแล้ว
ท่านอาจจะบอกว่า แม่ค้าแถวพัทยาหรือพัฒน์พงษ์ไม่เห็นต้องเรียนแกรมมาร์แต่ก็ขายของได้และทำไมเราต้องฝืนใจเรียนแกรมมาร์ให้เหน็ดเหนื่อย

ก็จริงครับว่าแม่ค้าอาจจะไม่ต้องเรียนก็รู้ได้และใช้เป็น แต่ถ้าเป็นการพูดที่ซับซ้อนกว่าการซื้อขายต่อรองราคาล่ะครับ แม่ค้าจะพูดถูกไหมครับ

ผมขอยกตัวอย่างการอ่อนในเรื่องหลักภาษามาให้เห็นเป็นตัวอย่างเล่นๆ 2-3 ตัวอย่าง ขอยกตัวอย่างกรณีภาษาไทยนะครับ

มีอยู่คราวหนึ่ง ผมไปเที่ยวบ้านเพื่อนซึ่งพักอยู่กับยายชราชาวจีนที่พูดภาษาไทยไม่ค่อยคล่อง ผมไปบ้านเขาครั้งก่อนนานแล้ว เมื่อยายเห็นหน้าผมยายพูดว่า “นานๆค่อยมาเยี่ยมนะ” เพื่อนเห็นหน้าผมตกใจจึงบอกว่า ยายของเขาต้องการพูดว่า “นานแล้วนะไม่ได้มาเยี่ยม” ผมแน่ใจว่ายายไม่ได้เรียนหลักภาษาไทย

ผมเคยเห็นป้ายถือเคล็ดให้โชคของหลวงพ่อคูณติดไว้ที่บางบ้านว่า “บ้านนี้คนอยู่รวย” มาคิดเล่นๆว่าถ้าเขียนเพี้ยนไปเป็น “บ้านนี้คนรวยอยู่” ก็อาจจะผิดเคล็ดทันทีทำให้อยู่ ร. เรือ กลายเป็นอยู่ ซ. โซ่ แล้วจะพูดว่าหลักภาษาไม่สำคัญได้ยังไง

ระหว่างคำว่า “a shark-eating man” (คนที่กินปลาฉลาม) กับคำว่า “a man-eating shark” (ฉลามที่กินคน) มันคนละเรื่องเลยครับ แค่วางสลับที่กันนิดเดียว

หลายครั้งที่ใช้ภาษาผิดไปเพียงนิดๆหน่อยๆ ความหมายกลับเพี้ยนจนเกินให้อภัย เช่นจะพูดว่า “บ่อยครั้งที่สมชายแทงหวยถูก” กลับไปพูดว่า “บ่อยครั้งที่สมชายถูกหวยแทง” นี่เป็นการใช้ active voice และ passive voice ที่ไม่ถูกต้อง

หรือแม้ว่าจะมิได้ใช้ภาษาผิดหลักอย่างฉกรรจ์ เช่น แทนที่จะพูดว่า ฝนตกหนัก (heavy rain) – ลมพัดแรง (strong wind) กลับพูดว่า ฝนตกแรง (strong rain) ลมพัดหนัก (heavy wind) ฟังดูแล้วก็ไม่ค่อยเป็นธรรมชาติ

จากตัวอย่างข้างต้นนี้เราสามารถคิดเทียบเป็นภาษาอังกฤษได้ไม่ยาก เมื่อคนไทยพูดหรือเขียนอังกฤษผิดแกรมมาร์ ผลที่เกิดขึ้นก็คล้ายกัน คือมีตั้งแต่เสียหายน้อยและไม่จำเป็นต้องแก้ไขไปจนถึงเสียหายมากจนแก้ไขไม่ได้

เอาละ เมื่อเราหมดโอกาสเรียนแกรมมาร์ตามธรรมชาติจากการพูดจามาตั้งแต่เด็กเพราะเราเกิดเมืองไทยที่ภาษาอังกฤษ “ไม่ใช่ภาษาพ่อภาษาแม่” ของเรา ก็เหลืออีก 2 วิธีอื่นที่เราจะเรียนแกรมมาร์หรือหลักภาษาของฝรั่ง คือ
วิธีที่ 1 ฟังเยอะๆและอ่านเยอะๆ และพยายามสังเกตจดจำภาษาที่ฝรั่งพูดและเขียนและ copy เขา ถ้าเราสังเกตและจดจำอย่างเข้มข้น เราก็จะพูดและเขียนไม่ผิดมากนัก แต่ผมสังเกตว่าคนไทยไม่ชอบอ่านหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นภาษาไทย หรือภาษาของคนต่างด้าว เมื่อไม่ชอบอ่านจึงไม่มีตัวอย่างให้ copy จึงพูด – เขียนภาษาอังกฤษไม่ค่อยได้ หรือพูด – เขียนได้แต่ไม่ค่อยถูก
วิธีที่ 2 เรียนจากตำราแกรมมาร์ คนไทยจำนวนไม่น้อยเก่งแกรมมาร์ อธิบายหลักแกรมมาร์ได้ แต่กลับพูดและเขียนอังกฤษไม่ค่อยได้ ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะว่า เป็นการเรียนแกรมมาร์ที่มิได้ถูกเสริมด้วยการฟังและการอ่านอย่างพอเพียง พอถึงเวลาที่ต้องพูดหรือเขียนจึงทำไม่ค่อยได้ เหมือนเรียนทฤษฎีการยิงปืน แต่ไม่เคยเหนี่ยวไกปืนสักโป้ง จะยิงปืนเป็นได้ยังไง แต่อย่างไรก็ตาม แม้การอ่านตำราอย่างเดีนวจะไม่พอ แต่การไม่แตะตำราเสียเลยก็ไม่ควร การอ่านตำราจะช่วยให้เราย่นเวลาในการสังเกตการใช้ภาษา ตำราช่วยทำให้เราไม่ต้องคลำหาทางหรือหลงทางนานเกินไป
ในยุคหลังๆนี้ผมได้ยินหลายคนพูดว่า แกรมมาร์จากตำราไม่สำคัญ ผมเห็นด้วยว่าถ้าเราศึกษาแกรมมาร์จากการอ่านมากๆ และฟังมากๆ เราก็อาจจะไม่จำเป็นต้องศึกษาแกรมมาร์จากตำรา แต่ถ้าอ่านก็ไม่อ่าน ฟังก็ไม่ฟัง ตำราแกรมมาร์ก็ไม่จับ โดยกระโดดลงไปพูดหรือเขียนเลย แล้วหวังว่าจะพูดได้เขียนได้อย่างถูกต้อง ผมว่ามันเหลือเชื่อครับ!
หลายท่านคงเคยได้ยินเรื่องของบางคนที่มีโอกาสใช้ภาษาอังกฤษทุกวันก็ทำให้พูดได้คล่อง โดยไม่ต้องเรียนแกรมมาร์ แต่ผมมีตัวอย่างตรงกันข้ามมาเล่า 1เรื่อง ผมพบกับป้าคนหนึ่งได้สามีเป็นคนสวิตและไปเปิดร้านอาหารไทยที่เมืองเซนต์กาเลน และอยู่ที่นั่นมา 12 ปี ผมถามว่าป้าคงพูดภาษาสวิตคล่องมากซีครับ แกบอกว่าก็พอถูๆไถๆพูดไปได้ “ป้าเพิ่งมาพูดตอนอายุเยอะแล้ว ก็พูดกันรู้เรื่อง แต่ไม่ดีเด่อะไร ได้หัวกับท้ายแหว่งตรงกลาง ได้กลางกับหัวแหว่งตรงท้าย เราไม่ได้เรียนเป็นเรื่องเป็นราวเหมือนคนอื่นเขา” นี่คุณป้าจากบ้านนอกการศึกษาไม่สูงยังรู้เลยว่าแกรมมาร์สำคัญ

เมื่อท่านศึกษาแกรมมาร์จากตำรา ถ้าศึกษาให้เข้าใจแต่จำไม่ค่อยได้ – ไม่ต้องกังวลครับ ขอเพียงศึกษาให้เป็นพื้นไว้ เมื่อท่านฝึกอ่านบ่อยๆและฟังบ่อยๆ แกรมมาร์ที่ท่านศึกษาไว้นี้จะช่วยให้ท่านเข้าใจวิธีการเขียนเมื่อท่านฝึกอ่าน และเข้าใจวิธีการพูดเมื่อท่านฝึกฟัง ผลลัพธ์ก็คือแกรมมาร์ที่ท่านอ่านจากตำราก็จะถูก upgrade เป็นแกรมมาร์ที่ท่านเข้าใจจริงๆ และจำได้โดยไม่ต้องบังคับให้ตัวเองจำ ท่านจะพูดได้เขียนได้อย่างถูกต้องตามหลักแกรมมาร์ ไม่ทำให้คนฟังตกใจเหมือนที่คุณยายทำกับผม หรืออาจจะตรงกันข้าม คือ ฝรั่งตกใจว่าทำไมท่านจึงพูดฝรั่งได้ดีจัง นี่ผมไม่ได้พูดเว่อให้ขำเล่น ผมพูดจริงๆครับ
พิพัฒน์

2 comments:

Anonymous said...

สวัสดีค่ะหนูอยู่ชั้นม.4 หนูก็ไม่เค้าใจในเรืองนี้เลยแต่ตอนนี้หนูก่อเค้าใจแล้วค่ะคือถ้าคนเราไม่ขยันทำทุกวันมันก็เท่านั้นต่อในมีการสอนที่ดีที่สุดในโลกมันเท่านัน

Unknown said...

แจ๋วมากท่าน