Saturday, December 15, 2007

[405] กาลครั้งหนึ่ง ผมตั้งใจจะท่องดิกให้หมดเล่ม

สวัสดีครับ
ผมไปพบคำว่า dictionarying โดยบังเอิญที่ Merriam-Webster's Open Dictionary ซึ่งเขาให้ความหมายไว้ว่า
Dictionarying : = การไล่ดูศัพท์ในดิกชันนารีเพื่อเพิ่มพูนความรู้หรือคำศัพท์ของตนเอง (The act of browsing through dictionaries to expand knowledge and vocabulary.)ตัวอย่าง: "What are you doing on merriam-webster.com? Just a little dictionarying."

วันนี้ผมอยากจะคุยกับท่านผู้อ่านสักนิดครับเกี่ยวกับเรื่องนี้
ต้องขออนุญาตคุยนิดนึงนะครับ แม้ตอนนี้ผมชักแก่แล้วและชักขี้หลงขี้ลืมไปบ้าง แต่ตอนที่ผมเด็ก ๆ ช่วงประถม-มัธยมผมความจำดีกว่าทุกวันนี้เยอะครับ

ดิกชันนารี อังกฤษ - ไทยเล่มแรกที่ผมใช้ ราคา 10 บาท เรียบเรียงโดย ม.ล. มานิช ชุมสาย ผมพลิกดูแล้วมันมีประมาณ 520 หน้า ตอนเป็นเด็กช่วงนั้นมีความอยากแปลก ๆ คืออยากจะจำศัพท์ในดิกเล่มนี้ให้ได้หมดทุกคำ ผมก็เลยวางแผนตามประสาเด็กว่า ถ้าผมท่องจำให้ได้วันละหน้า ไม่ถึง 2 ปีผมก็จะจำดิกได้หมดเล่ม ก็คงจะวิเศษมาก ความรู้สึกของเด็กต่างจังหวัดอย่างผมตอนนั้นไร้เดียงสามาก คือดิดว่าศัพท์ภาษาอังกฤษในโลกนี้ทั้งโลกมีบรรจุอยู่ในดิกเล่มละ 10 บาทที่ผมถืออยู่ในมือนี่แหละ

แล้วผมก็เริ่มท่องทีละคำ… ทีละบรรทัด… ทีละหน้า….
ผมท่องไปได้ประมาณ 3 วัน ก็ได้ตรัสรู้สัจธรรมว่า การจำศัพท์ด้วยการท่องดิกอัดเข้าไปในสมองไม่ใช่ทางสายกลาง แต่เป็นทางเดินอันสุดโต่ง นำมาซึ่งความทุกข์ ได้หน้าลืมหลัง ได้หลังลืมหน้า และท้ายที่สุดก็จะลืมทั้งข้างหน้าและข้างหลัง เป็นทางเดินที่ผู้หวังความสำเร็จไม่พึงเข้าไปข้องแวะ ผมก็เลยเลิกวิธีจำศัพท์ด้วยการท่องดิกตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้

ณ นาทีที่ผมกำลังคุยกับท่านผู้อ่านขณะนี้ห่างจากวันนั้นหลายสิบปี แต่ผมเริ่มมาสังเกตตัวเองว่าในระยะหลัง ๆ นี้ ผมเริ่มมีนิสัยหยิบดิกขึ้นมาอ่าน แต่ไม่ได้ท่อง และก็พบว่า….
1. ดิกเดี๋ยวนี้มีหลายเล่มที่คุณภาพดีกว่าเมื่อก่อนเยอะ เช่น รูปเล่มสวยงามกว่า บางเล่มมีตัวอย่างประโยคภาษาอังกฤษให้ศึกษาการใช้ศัพท์ แถมบางเล่มยังมีคำแปลประโยคตัวอย่างเป็นภาษาไทยให้อีกด้วย หรือมีรูปให้ดูประกอบ บางเล่มเป็นทั้งดิก อังกฤษ – อังกฤษ – ไทย คือเขียนคำอธิบายศัพท์เป็นภาษาอังกฤษแล้ว ยังมีการเทียบความหมายหรือให้คำแปลเป็นภาษาไทยอีกด้วย พูดง่าย ๆ ก็คือดิกดี ๆ เดี๋ยวนี้มีเนื้อหาแวดล้อมน้อมนำให้เราจำศัพท์ใหม่ได้ง่ายขึ้น และลืมยาก ไม่เหมือนดิกรุ่นก๋งที่มีเฉพาะคำศัพท์และคำแปลดื้อ ๆ ด้วน ๆ หาความน่ารักแทบไม่พบเลย (แต่ถึงอย่างไรก็ต้องขอขอบคุณครับ)
2. สำหรับปริมาณของศัพท์ที่อยู่ในดิกก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ สมัยผมเป็นวัยรุ่นผมมีมาตรฐานเดียวในการเลือกซื้อดิก คือต้องมีศัพท์เยอะ ๆ ผมจะคิดถึงคำยาก ๆ ที่ผมบังเอิญไปพบครั้งเดียวแล้วก็ไม่เคบพบอีกเลย และเอามาเช็คในดิกที่จะซื้อว่ามีพิมพ์ไว้หรือเปล่า ซึ่งจริง ๆ แล้วผมไม่จำเป็นต้อง serious อย่างนั้นก็ได้

เมื่อผมไปเจอคำว่า Dictionarying ตามความหมายข้างบน คือ การไล่ดูศัพท์ในดิกชันนารีเพื่อเพิ่มพูนความรู้หรือคำศัพท์ของตนเอง จึงได้รู้ว่า ตอนนี้ผมเริ่มจะติดนิสัย dictionarying แล้ว คือว่า เมื่อเลือกซื้อดิกตามร้านหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นดิก อังกฤษ – อังกฤษ, อังกฤษ – ไทย, หรือ ดิก ไทย – อังกฤษ ผมจะเลือกดูดิกที่มี “ศัพท์พื้นฐาน” ตำราหลายเล่มบอกว่า ศัพท์อังกฤษพื้นฐานมีประมาณ 25,000 คำ แต่จริง ๆ แล้วมันอาจจะมีน้อยกว่านี้ก็ได้ เช่นเพียง 1,000 คำ หรือไม่เกิน 5,000 คำ มันขึ้นอยู่กับว่า เราต้องการให้มัน “พื้นฐาน” ขนาดไหน แล้วผมก็ใช้เกณฑ์อื่น ๆ ในการเลือกซื้อดิกตามที่เล่าข้างบน เช่น
[1] รูปเล่มสวยงาม บางทีผมก็จุกจิกว่าต้องเย็บด้วยเชือก เพราะถ้าเย็บกาวอาจจะหลุดง่ายเกินไปเมื่อเปิดใช้บ่อย ๆ
[2] มีตัวอย่างประโยคภาษาอังกฤษให้ศึกษาการใช้ศัพท์ มีคำแปลประโยคตัวอย่างเป็นภาษาไทยให้ด้วยยิ่งดี
[3] มีเครื่องหมายลงเสียงหนัก หรือ stress กำกับพยางค์ให้ไว้ด้วย: เครื่องหมายนี้ซึ่งมักเป็นขีด ‘ ที่ต้นพยางค์หรือท้ายพยางค์ (อ่านคำอธิบายในเล่ม - แต่ละเล่มอาจจะลงต่างที่กัน), แต่บางเล่มพยางค์ที่ลงเสียงหนักจะพิมพ์เป็นตัวเอน, หรือมีขีด dash – ท้ายพยางค์ที่ลงเสียงหนัก [พยางค์ที่ลงเสียงหนัก มักจะ = เสียงตรีในภาษาไทย ฉะนั้น table ซึ่งลงเสียงหนักที่ ta จึงอ่าน เท้ เบิล] สำหรับดิกที่ไม่มีคำอ่านซึ่งบอกพยางค์ที่ลงเสียงหนัก ไม่น่าซื้อครับ
[4] พิมพ์ด้วยตัวโต ๆ นี่เป็นเรื่องสำหรับคนแก่โดยเฉพาะที่สายตาชักไม่ค่อยดี สำหรับน้อง ๆ ที่อายุยังน้อย คงไม่ต้องคิดถึงเรื่องนี้

ในตลาดดิกเมืองไทย ดิกที่มีคุณภาพดีข้างต้นนี้ก็มีหลายเล่ม ทั้งที่เป็นดิกอังกฤษ – อังกฤษ, อังกฤษ – ไทย, และ ดิก ไทย – อังกฤษ แต่ก็ต้องยอมรับว่า มีบางเล่มที่คนไทยทำและมีข้อบกพร่อง เช่น พิมพ์ spelling ผิดมากเกินไป, หรือให้คำแปลผิดก็ยังมีเลยครับ แต่ก็ถือว่าเป็นส่วนน้อยครับ ท่านลองไปเดินดูด้วยตัวเอง แล้วเลือกมาสัก 1 หรือ 2 เล่มที่ท่านถูกใจ ผมเองก็มีอยู่หลายเล่ม

เมื่อได้ดิกเล่มโปรดมาแล้ว ผมไม่ได้ “ท่องดิก” แต่ผม “อ่านดิก” คือทำ dictionarying ที่พูดข้างต้นนั่นแหละครับ ทำอย่างไรล่ะครับ….

[1]. ในแง่ที่หนึ่ง เราใช้ดิกชันนารีศัพท์พื้นฐานเป็น checklist คือตรวจสอบว่า ศัพท์พื้นฐานที่เราเลือกซื้อมาเองเนี่ยะ เรารู้สักกี่เปอร์เซนต์ ท่านอาจจะใช้ดินสอติ๊กคำที่ท่านรู้ และเมื่อรู้เพิ่มก็มาติ๊กเพิ่มวันหลัง ท่านเลือกเอาเองเลยครับว่าจะติ๊กยังไง เพราะศัพท์บางคำมีถึง 5 ความหมาย แต่เราอาจจะรู้แค่ 2 – 3 ความหมาย ท่านจะติ๊กที่ตัวศัพท์หรือติ๊กเฉพาะความหมายที่ท่านรู้ ก็แล้วแต่ท่าน
[2]. ในแง่ที่สอง ดิกที่มีอุปกรณ์เสริมหลาย ๆ อย่าง เช่น ตัวอย่างประโยค คำแปลตัวอย่างประโยค คำอธิบายวิธีการใช้ คำชี้แจงแกรมมาร์ ฯลฯ ดิกพวกนี้จะช่วยเราทั้งเรื่อง Passive skill (การอ่านและการฟัง) และ Active skill (การเขียนและการพูด) คนส่วนใหญ่มี passive vocabulary มากกว่า active vocabulary เช่น รู้ศัพท์ 10,000 คำ เมื่ออ่านหนังสือหรือได้ยินใครพูดโดยใช้ศัพท์ 10,000 คำนี้ก็เข้าใจ แต่เมื่อถึงเวลาที่ตนเองจะต้องเขียนให้คนอื่นอ่าน หรือพูดให้คนอื่นฟัง อาจจะเอา 10,000 คำนี้มาใช้ได้อย่างมั่นใจเพียง 5,000 คำ ในแง่นี้แหละครับที่ดิกพวกนี้จะช่วยเพิ่มจำนวน active vocabulary ของเราให้มากขึ้น โดยศึกษาจากตัวอย่างประโยคหรือหลักแกรมมาร์ที่ดิกพิมพ์ไว้ ยิ่งถ้าเราได้ออกเสียงพูดตาม ก็จะยิ่งดีเยี่ยมขึ้นหลายเท่า

วันนี้ ผมเริ่มต้นการคุยด้วยเรื่อง “ท่องดิก” แต่มาลงท้ายด้วยเรื่อง “อ่านดิก” และอยากเชิญชวนให้ทุกท่านอ่านด้วย ถ้าขณะนี้ท่านยัง “ไม่มีดิก” ผมขอแนะให้ท่านไป “ซื้อดิก” ดี ๆ สัก 1 เล่มครับ

ศึกษาเพิ่มเติม: พจนานุกรม dictionary

พิพัฒน์
pptstn@yahoo.com

1 comment:

Anonymous said...

เคยคิดจะท่องดิกเหมือนกัน แต่มันไม่ไหว
อ่านแล้วก็ใช่เลย เดี๋ยวลืมหน้าจำได้แต่หลัง
พอมาอ่านที่อาจารย์เขียนไว้ ก็ทำให้เข้าใจแล้ว
และต่อไปก็คงจะ อ่านดิก เหมือนที่อาจารยฺ์บอก