Sunday, December 23, 2007

[422] ประสบการณ์ในการเขียนภาษาอังกฤษ

สวัสดีครับ
งานประจำที่ทำอยู่ทำให้ผมต้องเขียนภาษาอังกฤษอยู่บ้าง บางครั้งเขียนบ่อย บางครั้งเขียนไม่บ่อย บางครั้งไม่ได้เขียนเลย

ถ้าถามว่าเขียนภาษาอังกฤษเป็นงานยากไหม ตอบว่าบางทีก็ยากมาก บางทีก็ยากน้อย บางทีก็ไม่ยากเลย ขึ้นอยู่กับว่าเขียนอะไร เช่น เขียนสุนทรพจน์ บันทึก โครงการ บทความ บทสัมภาษณ์ จดหมาย หรืออีเมล และเขียนให้ใครหรือเขียนถึงใคร เช่น ถ้าเขียนร่างสุนทรพจน์ให้ผู้บริหารก็ยากหน่อย ถ้าเขียนอีเมลอย่างไม่เป็นทางการไปถึงชาวต่างประเทศก็ง่ายหน่อย เป็นต้น แต่ถ้าท่านจะเกณฑ์ให้ผมตอบคำเดียวว่าการเขียนภาษาอังกฤษยากหรือง่าย ผมขอต่อรองตอบสองคำว่า ‘ไม่ง่าย’ แต่ก็ ‘ไม่ยากนัก’

ผมขออนุญาตพูดถึงประสบการณ์และความคิดเห็นของตัวเองเกี่ยวกับเรื่องการเขียนภาษาอังกฤษ ถือว่าเล่าสู่กันฟังแล้วกันครับ

ภาษาอังกฤษที่เรียนในชั้นตั้งแต่เด็ก แม้เขาจะมุ่งให้ได้ทั้ง 4 อย่าง คือ ฟัง – พูด – อ่าน – เขียน แต่ผมได้มามาก ๆ อย่างเดียว คือ ทักษะการอ่าน ส่วนการฟัง – พูด – เขียน ผมได้มาน้อย

การเรียนภาษาอังกฤษให้ได้ผลดีและเร็วจะเกณฑ์ให้ทุกคนใช้วิธีเดียวกับเราคงเป็นการทำบาปด้วยกุศลเจตนา วิธีที่ผมใช้เป็นหัวหอกในการเรียนภาษาอังกฤษคือการอ่าน บางคนใช้วิธีดูหนัง – ฟังเพลงเป็นวิธีหลักและได้ผลซึ่งผมก็อนุโมทนาด้วย ส่วนผมใช้วิธีอ่านเป็นหลักและจนถึงบัดนี้ก็ร้องเพลงฝรั่งไม่เป็นแม้แต่เพลงเดียว เพื่อน ๆหลายคนไม่เชื่อว่าผมร้องเพลงฝรั่งไม่เป็น ส่วนบางคนที่เชื่อก็รู้สึกสงสาร ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นความสงสารที่มีเหตุผลทีเดียว ผมเคยอ่านบทความเกี่ยวกับการเรียนรู้ของผู้คน ซึ่งให้ข้อสรุปว่าถ้าจะให้ได้ผลดีก็น่าจะใช้หลาย ๆ วิธี เพราะแต่ละวิธีก็มีข้อดีของมัน ผมโชคไม่ค่อยดีนักที่ในช่วงวัยรุ่น วิธีที่ใช้เรียนภาษาอังกฤษมีเพียงการอ่านเท่านั้น มันจึงเป็นเรื่องของ ‘by chance’ น่าอิจฉารุ่นน้องทุกวันนี้ซึ่งมี ‘ตัวช่วย’ มากมายในการศึกษาภาษาอังกฤษ เขาจึงสามารถเลือกได้หลาย ๆ วิธีที่เหมาะกับตัวเขา คือเป็น ‘by choice’ ซึ่งผมไม่ค่อยมีโอกาสมากนักเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว

แต่ถึงอย่างไรก็ต้องบอกว่าผมไม่โชคร้ายซะทีเดียว เพราะ reading skill ที่สะสมไว้ตอนอายุน้อยเป็นพื้นฐานที่วิเศษมาก สำหรับ listening, speaking และ writing ซึ่งต้องมาฟิตเอาตอนหลังเพราะหน้าที่การงานบังคับ เพราะตั้งแต่เรียนจบมหาวิทยาลัยและไปทำงานต่างจังหวัดไกล ๆ ผมก็ยังคงอ่าน Bangkok Post ทุกวันถ้าเป็นไปได้ จำได้ว่ามีอยู่วันหนึ่งขณะที่กินมันเทศเผาในหมู่บ้านพร้อมกับหยิบ Bangkok Post ขึ้นมาอ่าน ผมถูกเพื่อนทักเล่น ๆว่า ถ้าชอบกินมันเทศเผาให้อ่าน ‘ไทยรัฐ’ ถ้ายังยืนยันจะอ่าน Bangkok Post ให้ซื้อแฮมเบอร์เกอร์มากิน เพราะสิ่งที่กินกับสิ่งที่อ่านมันไม่ match กัน ตอนนั้นที่ถูกทักผมยังงง ๆ และตอบเพื่อนไม่ได้ถนัด ถ้าเพื่อนคนนั้นบังเอิญมาได้อ่านสิ่งที่ผมเขียนบรรทัดนี้ ผมขอตอบใหม่ว่า ทุกวันนี้ผมกินทั้งมันเทศเผาและแฮมเบอร์เกอร์ ส่วนหนังสือพิมพ์ก็อ่านทั้งไทยรัฐและ Bangkok Post เพื่อนคงไม่ว่าอะไรนะ


การอ่านเป็นพื้นฐานที่ดีได้อย่างไรสำหรับการฟัง – พูด – และเขียน การอ่านมีประโยชน์อย่างนี้ครับ
[1] การอ่านทำให้รู้ศัพท์เยอะ ซึ่งศัพท์ที่รู้นี้ก็เอาไปใช้ในการฟัง พูด และเขียน เพราะฉะนั้นเมื่อฟังข่าวหรือบทสนทนาภาษาอังกฤษ ถ้าผมไม่รู้เรื่องก็เพราะ ‘สำเนียง’ มิใช่ ‘สำนวน’ เพราะศัพท์และสำนวนนั้นผมตุนทำความเข้าใจไว้มากแล้วด้วยการอ่าน

เพราะฉะนั้นในการฝึก listening skill จึงลดงานไปครึ่งหนึ่ง คือทำให้หูของตัวเองคุ้นเคยกับสำเนียง ถ้าต้องรับมือทั้งสำนวนและสำเนียงคงหนักเอาการ และนี่น่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ผมได้ยินน้องในที่ทำงานบางคนที่ไม่ชอบศัพท์สมัยเรียนหนังสือบ่นว่าฟังภาษาอังกฤษรู้เรื่องช้า

กฎส่วนตัวที่ผมถือเป็นหลักในการเรียนศัพท์ใหม่ ก็คือ
1) จำทีละ 1 ความหมาย:
เมื่อเปิดดิกจะพบว่า ศัพท์ตัวหนึ่งบางทีมีตั้ง 5 – 6 ความหมายหรือมากกว่า ผมก็จะจำเฉพาะความหมายที่ผมพบในเรื่องที่อ่าน เพราะถ้าขืนอัดจำให้ได้หมดในคราวเดียวกันคงล้นและไหลออกจากสมองหมด ข้อที่น่ายินดีก็คือ ความหมายหนึ่งความหมายใดที่เราจำไว้ได้นี้ จะช่วยให้เราเดาไปถึงความหมายอื่น ๆ ได้ง่ายขึ้นเมื่อไปอ่านพบที่อื่น ไม่ต้องเปิดดิกทุกครั้งก็พอเดาได้

2) ต้องรู้คำอ่านและเปล่งเสียงออกมาให้ได้อย่างมั่นใจ โดยเฉพาะพยางค์ที่ลงเสียงหนัก เพราะถ้าเราไม่รู้หรือไม่มั่นใจในการออกเสียง ก็ยากนักที่ศัพท์ใหม่จะประทับในสมอง ผมไม่รู้ว่าทฤษฎีเขาว่าไว้อย่างไร แต่ตัวผมเป็นเช่นนี้จริง ๆ พยางค์ที่ลงเสียงหนักมักจะมีเสียงตรีในระดับเสียงภาษาไทย (daughter จึงออกเสียง ด๊อ เทอะ ) ดิกชันนารีอังกฤษ – ไทย บางเล่มก็มีเครื่องหมาย ไว้หน้าพยางค์ที่ลงเสียงหนัก บางเล่มก็พิมพ์ไว้หลังพยางค์นั้น ผมคิดว่าน้องหลายคนอาจจะงงเรื่องนี้ เพราะผมเองก็เคยงงมาแล้ว

3) ผมทำสมุดจดศัพท์ส่วนตัวเพื่อการนี้ รูปร่างของสมุดจดศัพท์เป็นอย่างนี้ครับ
http://home.dsd.go.th/freeenglish/Vocab_book.doc
โดยการทวนศัพท์ผมจะใช้แผ่นกระดาษเปิดเฉพาะคำศัพท์ในคอลัมน์แรก และปิดในคอลัมน์อื่น ๆ ไว้และจะนึกตอบตัวเองก่อนเปิด และบางทีผมก็จะเปิดเฉพาะคำแปลภาษาไทยในคอลัมน์สุดท้าย และปิดคำศัพท์ภาษาอังกฤษในคอลัมน์อื่น พูดง่าย ๆ ก็คือ จะใช้วิธีทวนศัพท์ทั้ง 2 แบบ คือ จากคำศัพท์ภาษาอังกฤษไปหาคำแปลภาษาไทย และจากคำแปลภาษาไทยไปหาศัพท์ภาษาอังกฤษ

[2] การอ่านทำให้รู้แกรมมาร์ ซึ่งเป็นแกรมมาร์ที่มีชีวิต ไม่ใช่แกรมมาร์ที่เหมือนเทวรูปตัวแข็งทื่ออยู่ในตำรา ซึ่งใคร ๆ ก็รู้ว่าสำคัญแต่ไม่อยากจะยุ่งด้วย การรู้แกรมมาร์ก็เหมือนกับการรู้ศัพท์นั่นแหละครับ คือรู้แล้วเอาไปใช้ได้ทั้งในการฟัง พูด และเขียน ถ้าเรารู้แกรมมาร์เราจะฟังได้ดี พูดได้ดี และเขียนได้ดีกว่าไม่รู้

เรื่องแกรมมาร์นี่ผมได้ยินคนทะเลาะกันมามาก ถ้าแกรมมาร์เป็นคนผมจะสงสารเขามากทีเดียว เพราะดูเหมือนเขาจะเป็นแพะรับบาปถูกบูชายัญในฐานะที่ทำให้นักเรียนไทยทั้งประเทศพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ เป็นอนันตริยกรรมทางภาษาที่ต้องตกนรกหมกไหม้ถึงขุมอเวจี ครูที่สอนแกรมมาร์ก็พลอยถูกตราหน้าเป็นตราบาปไปด้วย ‘แกรมมาร์’ ในภาษาไทยจึงแปลว่า ‘กรรมมาก’ ‘ครูสอนแกรมมาร์’ ก็คือ ‘คนมีกรรมมาก’ เอ๊ะ ! นี่ผมพูดเวอร์เกินไปหรือเปล่าครับ

เอาอย่างนี้ดีกว่าครับ ผมไม่ขอทะเลาะด้วย แต่จะขอเล่าประสบการณ์ฝึกส่วนตัวเกี่ยวกับแกรมมาร์

ถ้าท่านให้ผมพูดความรู้สึกคำเดียวที่มีต่อหนังสือแกรมมาร์ หลังจากไตร่ตรองอย่างรอบคอบทั่วสิบทิศแล้ว ผมคิดว่าความรู้สึกที่เหมาะสมและยุติธรรมที่สุดสำหรับตำราแกรมมาร์ก็คือ ‘น่าเบื่อ’ ผมนึกถึงสมัยเรียนชั้นมัธยมในห้องเรียนภาคบ่ายไม่มีแอร์ติดในต่างจังหวัดบ้านเกิด เพิ่งกินข้าวกลางวันอิ่มมาใหม่ ๆ และต้องนั่งทนฟังครูอธิบายเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ทางภาษาซึ่งคนอีกมุมโลกหนึ่งเขาใช้พูดกันแต่เราไม่ได้พูดกับเขาด้วย ถ้าจะให้ผมซึ่งเป็นเด็กนักเรียนนุ่งกางเกงขาสั้นนั่งฟังอย่างชื่นชมและไม่ง่วง ผมคิดว่าอย่างต่ำผมต้องบรรลุโสดาบันซะก่อน นี่ผมพูดจริง ๆ นะ

แต่อย่างไรก็แล้วแต่ ผมถือว่าตัวเองโชคดีครับที่ชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็กโดยไม่ต้องให้ใครมาส่งเสริมการอ่าน และภาษาอังกฤษก็มีเรื่องดี ๆ ให้อ่านที่หาอ่านไม่ได้หรือหาอ่านได้ยากจากหนังสือภาษาไทย ช่วงนั้นผมรับเป็นสมาชิกหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษสำหรับเด็ก ๆ คือ Student Weekly แล้วก็พบว่า ถ้าจะอ่านให้รู้เรื่องต้องรู้ทั้งศัพท์และแกรมมาร์ มิฉะนั้น แม้จะรู้ว่า eat แปลว่า กิน, man แปลว่า คน, และ shark แปลว่า ปลาฉลาม แต่ถ้าไปอ่านเจอคำว่า man-eating shark และ shark-eating man คำไหนแปลว่า ‘ปลาฉลามกินคน’ หรือ ‘คนกินปลาฉลาม’ ก็ยังงง ๆ อยู่ นี่เรื่องกินง่าย ๆ ยังงงถึงขั้นนี้ เรื่องที่มันยากและยุ่งกว่านี้ล่ะยิ่งไม่ต้องพูดถึง ฉะนั้นตำราแกรมมาร์แม้จะ ‘น่าเบื่อ’ แต่ก็ ‘จำเป็น’

ผมก็เลยต้องหาหนังสือแกรมมาร์ดี ๆ เล่มหนึ่งมาอ่านเท่าที่จะหาซื้อได้ในขณะนั้น การอ่านแกรมมาร์เป็นเรื่องที่ ‘ยาก’ เพราะต้อง ‘ย่อย’ อาหารฝรั่งที่กระเพาะสมองของคนไทยอย่างผมไม่คุ้น แต่มันก็จำเป็นครับ ผมอ่านให้เข้าใจไม่ได้มุ่งให้จำ เพราะถึงอย่างไรมันก็จำไม่ได้หมด แต่ต้องทำให้ตัวเองเข้าใจให้ได้ เพราะถ้าไม่เข้าใจแกรมมาร์ก็จะไม่เข้าใจภาษาอังกฤษจริง ๆ ใช้เวลานานพอสมควรครับกว่าจะอ่านและย่อยจนจบเล่ม

แกรมมาร์จะยังคงเป็นเพียงแกรมมาร์ โดยแกรมมาร์ และเพื่อแกรมมาร์ ถ้าเราไม่ได้ใช้แกรมมาร์ในการอ่าน ในการฟัง ในการพูด หรือในการเขียน แต่ก็อย่างที่บอกแล้ว ผมไม่มีโอกาสมากนักในการฟัง – พูด – เขียนภาษาอังกฤษ แกรมมาร์ที่ตายอยู่ในตำราก็ถูกชุบชีวิตขึ้นมาด้วยการอ่าน

เมื่อผมอ่าน Student Weekly หรือ Bangkok Post ผมจะสังเกตไปเรื่อย ๆ ว่าทำไมเขาถึงเขียนอย่างนั้น มันรู้สึกตะหงิด ๆ ผิดหลักแกรมมาร์ที่เคยอ่านมาหรือเปล่า เรื่องของเรื่องก็คือว่า เราจะไม่รู้สึก หรือไม่รู้เรื่องอะไรเพิ่มเติมเลย ถ้าเราไม่เรียนแกรมมาร์ตุนไว้ในสมองซะก่อน แต่ถ้าสมองของเราเคยย่อยเรื่องนี้ไว้ พอได้อ่านเนื้อเรื่องก็เหมือนเป็นการทบทวนกฎเกณฑ์แกรมมาร์ ยิ่งอ่านมากก็ยิ่งจำได้โดยไม่ต้องบีบบังคับให้สมองจำ เพราะมันจำของมันเอง เปรียบไปก็เหมือนดูเขาเล่นหมากรุกนั่นแหละครับ ถ้าไม่รู้มาก่อนว่าขุน-โคน-ม้า-เรือ-เบี้ยเดินอย่างไร ต่อให้ดูเขาเล่นสักกี่ร้อยกระดานก็ตาม ก็ยังไม่รู้เรื่องอยู่นั่นเอง แต่ถ้ารู้กฎเกณฑ์ไว้ก่อน ความรู้ก็จะค่อย ๆ ต่อยอดตัวมันเอง การลงทุนยอมศึกษาแกรมมาร์สักเล่มหนึ่งจึงคุ้มค่าเอามาก ๆ

[3] นอกจากศัพท์และแกรมมาร์แล้ว การอ่านยังทำให้เราได้เรียนรู้การใช้ภาษาในลักษณะต่าง ๆ ที่เมื่อรู้แล้วสามารถเอาไปใช้ได้ทั้งในการฟัง พูด และเขียน เรื่องประสบการณ์การใช้ภาษานี้ถ้าเราไม่ค่อยมีโอกาส ‘ฟัง’ เราก็ต้อง ‘อ่าน’ ครับ ถ้าฟังก็ไม่ได้ฟัง อ่านก็ไม่ได้อ่าน ก็ย่อมไม่มีวัตถุดิบที่จะเอาไปใช้พูดหรือเขียน คนที่ฝึกพูดโดยไม่ได้ฝึกฟัง และฝึกเขียนโดยไม่ได้ฝึกอ่าน ผลการฝึกคงได้ไม่ดี เพราะจริง ๆ แล้วการเรียนภาษาเริ่มต้นด้วยการ ‘จำขี้ปาก’ และเลียนแบบจากการอ่านและการฟัง แล้วพัฒนาไปสู่การพูดและเขียนด้วยตัวเอง

ผมกำลังพูดกับท่านเกี่ยวกับเรื่องที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า collocation ถ้าฝรั่งพูดภาษาไทยว่า ‘ลมพัดหนัก’ และ ‘ฝนตกแรง’ เราก็คงเข้าใจ แม้เราจะพูดของเราว่า ‘ลมพัดแรง’ และ ‘ฝนตกหนัก’ ทุกภาษาเป็นเช่นนี้ คือเขาพูดของเขาอย่างนั้นโดยห้ามถามถึงเหตุผล และเอาแกรมมาร์มาอธิบายก็ไม่ได้ถนัดนัก เรื่องของเรื่องก็คือว่า ถ้าไม่พูดหรือเขียนอย่างนั้น อาจทำให้สื่อสารเสียหายเพราะเข้าใจผิด หรือเพียงแค่ตลกขบขันก็ได้

เรื่องการจำ style หรือลักษณะต่าง ๆ ในการใช้ภาษาเพื่อนำมาประยุกต์ใช้เองนี้ การสังเกตสำคัญที่สุด แต่ก็ดูเหมือนว่า skill ในการสังเกตสอนกันลำบาก ก็คงต้องเริ่มที่การใส่ใจ แต่คนจะไม่ใส่ใจถ้าไม่มีใจให้ ทำไปทำมาก็อยู่ที่ฉันทะหรือความรักนั่นแหละ ถ้าไม่รักก็ล้มเหลวตั้งแต่เริ่ม แต่ถ้ารักก็ยินดีฝ่าฟันไปได้แม้ไม่ง่ายนัก

อ่านมาถึงบรรทัดนี้บางท่านอาจจะบอกว่า โอ้โฮ จะพูดจะเขียนสักทีต้องให้ถูกเด๊ะเลยทั้งศัพท์สำนวน – แกรมมาร์ – การใช้ภาษาเลยหรือ? อย่างนี้ก็ไม่ต้องทำอะไรเลย ใน 4 ทักษะคือ ฟัง – พูด – อ่าน – เขียน ก็เอาแค่ฟังกับอ่านก็พอ ส่วนพูดกับเขียนให้พวกที่เขาคล่อง ๆ ทำกันจะได้ไม่ต้องผิด

อย่าน้อยใจอย่างนั้นเลยครับ ผมเพียงแต่จะบอกว่า ถ้าเราฝึกอ่านและฟังเยอะ ๆ เราก็จะได้ศัพท์สำนวน – แกรมมาร์ – การใช้ภาษาอย่างถูกต้องที่สามารถเอาไปใช้ได้โดยอัตโนมัติ เมื่อเราต้องเขียนหรือพูด ผมอยากจะบอกแค่นี้แหละครับ

ที่คุยมาทั้งหมดตั้งแต่ต้นคืออารัมภบทที่นับว่ายาวมาก ต่อไปนี้ผมจะขอวกเข้าเรื่อง ‘ประสบการณ์ในการเขียนภาษาอังกฤษ’

เมื่อเรียนจบแล้วผมก็ทำงานอยู่ต่างจังหวัดประมาณ 10 ปี และก็อย่างที่บอกแล้วว่า ในช่วง 10 ปีนี้การฟิตภาษาอังกฤษของผมก็มีแต่เพียงการอ่าน – การอ่าน – และการอ่านเท่านั้น เมื่อเข้ามาทำงานในกรุงเทพและต้องเขียนภาษาอังกฤษ หรือบางทีมีคนขอร้องให้ช่วยเขียน หรือต้องแนะนำให้คนอื่นเขียน และไม่ค่อยมีคนให้ถามเมื่อสงสัย ผมก็ต้องหาอุปกรณ์เสริมมาช่วยให้เบาแรงเมื่อต้องเขียนอะไรสักอย่างหนึ่ง และเป็นเรื่องโชคดีจริง ๆ ที่ในช่วงประมาณ 10 ปีนี้ผมได้อาศัยอินเตอร์เน็ตเป็นตัวช่วยที่ต้องขอขอบคุณยิ่ง ผมจึงขอสรุปให้ท่านฟังเกี่ยวกับตัวช่วยทั้งหลายที่ผมเคยไหว้วานมาตั้งแต่ต้น ว่าเป็นข้อ ๆ ไปเลยนะครับ

[1] ดิกชันนารี
ผมได้พูดถึงการใช้ประโยชน์จากดิกชันนารีไว้มากพอสมควรใน Blog นี้ ท่านผู้อ่านสามารถคลิกเข้าไปชมได้ที่นี่ครับ: พจนานุกรม dictionary

* * * * * * * * * *
โดยทั่วไปเมื่อเราเปิดดิกก็เพราะต้องการทราบความหมายของศัพท์ แต่ถ้าเราต้องการศึกษาการใช้ศัพท์คำนั้นเพื่อที่เราจะได้ประยุกต์เอาไปพูดหรือเขียนเอง ก็ต้องหาตัวอย่างที่เจ้าของภาษาเขาใช้ ยิ่งเยอะยิ่งดี ผมก็ได้อาศัยเว็บพวกนี้ครับ
- http://www.dicts.info/define.php
(คลิกที่รูปลำโพงเพื่อฟังการออกเสียง, วางเมาส์ที่ไอคอนรูปหน้าคำศัพท์(ถ้ามี), เลื่อนลงมาข้างล่างใต้หัวข้อ 'word' English examples of use ตรงนี้แหละครับจะมีตัวอย่างให้ดูเยอะเลย

-http://www.manythings.org/voa/sentences.htm
( กำหนดเอาเองนะครับว่า คำที่พิมพ์จะต่อท้ายด้วย –s, -es, -ed, -ing, -ly, ฯลฯ หรือไม่)

- http://eedic.naver.com/
(พิมพ์คำศัพท์, คลิกที่ Example)

- เพิ่ม 4 มค 50: http://www.natcorp.ox.ac.uk/
-เพิ่ม 14 มค 50: http://nhd.heinle.com/advanced_search.aspx
* * * * * * * * * *

[2] ปัญหาหนึ่งที่ผมพบบ่อยคือไม่รู้ว่า preposition อะไรที่จะต้องเอามาเติมท้าย Verb ก็ได้อาศัยเว็บพวกนี้ช่วยบอก
http://dictionary.cambridge.org/Default.asp?dict=P
http://www.englishpage.com/prepositions/verb_preposition.html
http://www.englishpage.com/prepositions/phrasaldictionary.html
http://www.phrasalverbdemon.com/dictionarya.htm

[3] หลายครั้งผมต้องการหาตัวอย่างที่คนอื่นเขาได้เขียนไว้ จะได้ดูเป็นแนวทาง ก็ได้เว็บพวกนี้ครับ

หนังสือราชการ:
http://www.do.rtaf.mi.th/Publication/files/13_4800457.pdf

จดหมายติดต่องาน
[132] การเขียนจดหมายติดต่องาน (ธุรกิจ)

บทคัดย่อวิทยานิพนธ์ (ภาษาอังกฤษ)
http://library.bu.ac.th/buonline/onlinedb/onlinedb.html
http://www.research.chula.ac.th/abstract/prints.htm

การเขียนสุนทรพจน์ จากเว็บกระทรวงการต่างประเทศ
http://www.mfa.go.th/web/486.php?Qsearch=speech&type=0&lang=2

[4] สิ่งที่ผมชอบใจมาก ๆ เกี่ยวกับภาษาอังกฤษ คือสิ่งที่เรียกว่า plain English คนเข้าใจไปว่าอ่าน plain English แล้วไม่มีรสชาติ น่าเบื่อ แต่จริง ๆ แล้ว plain English สามารถทำให้คนอ่าน เข้าใจ – ชอบใจ – ประทับใจ ไปพร้อม ๆ กันเลยทีเดียว ผมเองก็พยายามฝึกอยู่เรื่อย ๆให้ตัวเองเขียน plain English ให้ได้ ท่านผู้อ่านลองเข้าไปอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ
[74] วิธีเขียนภาษาอังกฤษให้อ่านง่าย ๆ (Plain English)

เนื่องจากผมไม่ต้องเขียนภาษาอังกฤษทุกวันในงานประจำที่ทำอยู่ แต่พอถึงเวลาที่งานเขียนมาถึงก็ถูกคาดหมายว่า จะต้องเขียนได้และไม่แย่กว่าการเขียนครั้งก่อน ๆ ผมจึงต้องฟิตตัวเองอยู่เสมอ วิธีฟิตก็ง่าย ๆ ครับ คือ อ่าน Bangkok Post และเขียนไดอะรี่ทุกวันเป็นภาษาอังกฤษ เปรียบไปก็เหมือนต้องหาลูกปืนมาใส่รังปืนและซ้อมยิงปืนทุกวัน การอ่านภาษาอังกฤษคือการหาลูกปืนมาใส่รังปืน ส่วนการเขียนภาษาอังกฤษทุกวันก็คือการซ้อมยิงปืน ต้องทำทั้ง 2 อย่าง ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ครับ

ในย่อหน้าต้น ๆ ผมพูดว่า การเขียนภาษาอังกฤษ ‘ไม่ง่าย’ แต่ก็ ‘ไม่ยากนัก’ ผมยังยืนยันเหมือนเดิมครับ และเชื่อว่าทุกท่านที่อ่านภาษาอังกฤษได้ย่อมสามารถเขียนภาษาอังกฤษได้ ถ้าวันนี้ท่านเริ่มเขียน และพรุ่งนี้ไม่เลิกเขียน

ประสบการณ์ในการเขียนภาษาอังกฤษของผมมีน้อย ผมจึงอยากได้รับฟังประสบการณ์ของท่านผู้อ่านบ้าง ผมรอทุกท่านอยู่ครับ

พิพัฒน์
pptstn@yahoo.com

1 comment:

Anonymous said...

ก่อนอื่นต้องขอชมว่ามุ่งมั่นและหวังดีกับผู้อ่านหรือเพื่อนผู้ใฝ่ใจใคร่รู้ ผมว่าเรียนยากนะภาษาอาจจะเป(นเพราะวินัยผมไม่ดีพอกับการแสวงหาความรู้ ฝึกฝน ผมทำงานด้านภาษาแต่วิชาความรู้แค่หางอึ่ง จริงอยากรู้จักคุณพิพัฒน์เผื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ขอความคิดเห็น เพราะชอบความคิดแนวทางในการจัดการเผยแผร่แนะนำผู้อื่นให้ได้ความรู้เป็นวิทยาทาน

มีโอกาสคงได้สนทนาเป็นการส่วนตัวครับ ผมทำงานด้านนี้ก้ออยากรู้จักคนในวงการด้านนี้ครับ